วิเคราะห์ความต้องการที่อยู่อาศัย ผ่านแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน” (Home for All) ต้องการบ้านราคา1-2 ล้านบาท

วิเคราะห์ความต้องการที่อยู่อาศัย

ผ่านแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน” (Home for All) ต้องการบ้านราคา1-2 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมา การประมาณการความต้องการที่อยู่อาศัยของหน่วยงานต่าง ๆ มักจะใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแบบจำลองพยากรณ์ทางสถิติ ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมของจำนวนความต้องการที่อยู่อาศัยจากการอนุมานตามกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ขณะที่การดำเนินการตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนตามที่ได้คาดการณ์ไว้นั้น  หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัย ควรที่จะทราบความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อจะได้ดำเนินมาตรการการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติงานของหน่วยงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง จึงได้ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยหน่วยงานการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดทำแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน” หรือ “Home for All”ขึ้น เพื่อสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งประเทศ โดยประชาชนสามารถ Download แอพพลิเคชั่นนี้ ผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นSmartphone หรือ Tablet ในระบบ Android และ iOS หรือตอบแบบสำรวจผ่านเว็บไซต์ธนาคารอาคารสงเคราะห์www.ghbank.co.th และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ www.reic.or.th

ดร.วิชัย วัรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกลยุทธ์ 2 และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามสำรวจความต้องการในที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  โดยมีการสำรวจตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ย. 2560  มีจำนวนรวม 78,586 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนในกลุ่มอายุ 21-40 ปี(Gen-y) มากที่สุด มีสัดส่วนที่ 71.5% ส่วนกลุ่มอายุ 41-60 ปี มีสัดส่วน 25.5% กลุ่มอายุน้อยกว่า 21 ปี มีสัดส่วน 2% และกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วน 1%

ในด้านอาชีพของผู้ตอบแบบสำรวจ ส่วนใหญ่ 57.9 % มีอาชีพประจำ ประกอบด้วย พนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนผู้ที่มีอาชีพอิสระ มีสัดส่วน 42.1%  ซึ่งประกอบด้วย อาชีพรับจ้าง/ลูกจ้างไม่ประจำ อาชีพค้าขาย เจ้าของกิจการ/ธุรกิจส่วนตัว นิสิต/นักศึกษา เกษตรกร วิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์/สถาปนิก/วิศวกร ฯลฯ รวมทั้งไม่มีอาชีพ หรือว่างงาน และเกษียณ

ทั้งนี้ ได้มีการสำรวจระบุถึงความต้องการที่อยู่อาศัยและความต้องการบ้านหลังแรก โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย จำนวน70,068 ราย มีสัดส่วน 89.2% และ กลุ่มที่ไม่มีความต้องการที่อยู่อาศัย แต่ต้องการสินเชื่อด้านอื่นๆ 8,518 ราย มีสัดส่วน 10.8% ขณะที่ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย มีจำนวน 46,095 ราย มีสัดส่วน 58.7% โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการซื้อในช่วง 1-3 ปี (2560-2562) จำนวน 40,338 ราย มีสัดส่วน 87.5% ส่วนอีก 5,757 ราย หรือ 12.5% มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

ในส่วนของความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ 57.3% ต้องการซื้อบ้านเดี่ยว 25.1% เป็นทาวน์เฮ้าส์ ส่วนห้องชุดมีความต้องการซื้อ8.81% บ้านแฝด 4.6% และอาคารพาณิชย์ 4.1% ด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อ พบว่าส่วนใหญ่ 34.7% ต้องการซื้อในช่วงราคา 1-2 ล้านบาท ระดับราคา 700,000-1 ล้านบาท 15% ระดับราคา ต่ำกว่า 1 ล้านบาท 45% ส่วนระดับราคา 1-3 ล้านบาท มีสัดส่วน 47.7% และระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้น มีสัดส่วน 7.3%

กลุ่มที่มีความต้องการซื้อในช่วงปี 2560 – 2562 จำนวน 40,338 รายนี้ หากนำมาคัดกรองเพื่อค้นหากลุ่มที่มีความพร้อมในการผ่อนชำระสินเชื่อซึ่งเป็นกลุ่มความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ หรือมีความสามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ

ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ 57.3 % ต้องการซื้อบ้านเดี่ยว รองลงมา  25.1%  ต้องการซื้อทาวน์เฮ้าส์  ส่วนห้องชุด มีความต้องการซื้อเพียง 8.81% บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์ มีความต้องการ 4.6 และ 4.1 % ตามลำดับ

ในด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการซื้อ พบว่าส่วนใหญ่ 34.7 %ต้องการซื้อในช่วงราคา 1 – 2 ล้านบาท รองลงมาต้องการซื้อในช่วงราคา700,000 – 1,000,000 บาท 15% โดยจะเห็นได้ว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีสัดส่วนรวมกัน 45%  ส่วนระดับราคา 1 – 3ล้านบาท มีสัดส่วนรวมกัน 47.7%  ส่วนระดับราคาตั้งแต่ 3บาทขึ้นไป มีสัดส่วน 7.3%

ความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย

ความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยจำนวน 23,973 ราย ซึ่งมีสัดส่วน 30.5%  ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 78,586 ราย พบว่ากลุ่มที่มีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและมีศักยภาพหรือมีความสามารถที่จะผ่อนชำระได้ มีจำนวน 28% ในด้านราคาที่อยู่อาศัยที่ต้องการปลูกสร้าง พบว่า กลุ่มที่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ ส่วนใหญ่ 21.7% ต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในช่วงราคา 1 – 2 ล้านบาท รองลงมาต้องการปลูกสร้างในช่วงราคา7 แสนบาท – 1 ล้านบาท ในสัดส่วน 18.7%  โดยจะเห็นได้ว่าความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท  มีสัดส่วนรวมกัน 70%ส่วนระดับราคา 1 – 3  ล้านบาท มีสัดส่วนรวมกัน 27.2% ส่วนระดับราคาตั้งแต่ 3 บาทขึ้นไป มีสัดส่วนรวมกัน 2.8 %

ภาคที่มีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีสัดส่วน 33.1%  รองลงมาเป็นภาคเหนือ มีสัดส่วน24% ภาคใต้ มีสัดส่วน 12.7% กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีสัดส่วน 10.6%  ภาคตะวันออก มีสัดส่วน 8.2 %ภาคตะวันตก 6.5 %และภาคกลาง4.8% ซึ่งในแต่ละจังหวัดของแต่ละภูมิภาค จะมีความต้องการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยกระจากไปยังอำเภอต่างๆ ไม่กระจุกตัวอยู่ในอำเภอเมือง หรืออำเภอที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด