Q2 CK ฟื้น พลิกกำไรเพิ่ม 156% มั่นใจครึ่งปีหลัง Backlog ทะลุแสนล้าน
นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK แจ้งผลประกอบการงวด 3 เดือน ไตรมาส 2/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 63.7 ล้านบาท รายได้ก่อสร้าง 3,971 ล้านบาท รายได้รวม 4,450 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) 9 %
นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กล่าวว่า CK มั่นใจผลประกอบการของบริษัทได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/2563 เนื่องจากบริษัทในกลุ่มได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และน้ำแล้งมาแล้ว และคาดว่าตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 เป็นต้นไปจะกลับเข้าสู่สภาวะปรกติอีกครั้ง โดยผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2563 กำไรสุทธิ 63.7 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 156% เมื่อเทียบกับไตรมาส1/2563 อัตรากำไรขั้นต้น 9 % รายได้ก่อสร้าง 3,971 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 26% โดยมีสาเหตุมาจาก โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ได้ส่งมอบงานแล้วในปี 2562 และหลายโครงการอยู่ในช่วงปลายโครงการ ในขณะที่โครงการใหม่ เช่น โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 4 และโครงการอาคารศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อยู่ในระยะเริ่มต้นโครงการ ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายทุกโครงการ
ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 บริษัทเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับกับการเปิดประกวดราคาโครงการต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเริ่มประมูลตามแผนอีกครั้งหลังจากวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งมั่นใจว่า ภายในครึ่งปีหลังจะต้องได้มูลค่างานในมือ (Backlog) ใหม่เข้ามาเพิ่มเติมอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท กำหนดยื่นซองในวันที่ 23 กันยายน 2563 ซึ่ง CK ร่วมกับ BEM เข้าประมูล โดยมีจุดแข็งจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินและการบริหารเดินรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและยกระดับที่มีมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่ภาครัฐบาลจะทยอยเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 77,000 ล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่ที่ผ่าน EIA แล้ว จำนวน 3 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท สำหรับโครงการในต่างประเทศ ขณะนี้ CKP อยู่ระหว่างเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ในลาว มูลค่าใกล้เคียงกับโครงการไซยะบุรี มั่นใจว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน
ปีนี้ ซึ่งโครงการเหล่านี้มีจะช่วยเสริมมูลค่างานในมือ (Backlog) ขึ้นมาอย่างต่ำ 150,000-200,000 ล้านบาทในปีนี้ จากปัจจุบันที่อยู่ราว 30,000 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม นางสาวสุภามาส กล่าวเสริมว่า “BEM นั้น ผลประกอบการในไตรมาส 3 ดีขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทำให้ปริมาณรถและปริมาณผู้โดยสารปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 92 ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT กลับมาอยู่ที่ร้อยละ 80 บริษัทคาดว่าหลังจากมีการผ่อนคลายมากขึ้นและสถานศึกษาต่างๆ กลับมาเปิดการเรียนการสอนได้เต็มรูปแบบเหมือนเดิม ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติ TTW ผลประกอบการก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ สำหรับ CKP ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 โรงไฟฟ้าทุกแห่งมีแนวโน้มที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะตั้งแต่เดือน มิ.ย. เป็นต้นมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และ ไหลผ่านโรงไฟฟ้าไซยะบุรีเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ จะมีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำของปีปกติอีกด้วย”