เทรนด์การลงทุนปี 64 วัคซีนต้านโควิดตัวแปรหุ้นใหญ่ฟื้น จีนยังเนื้อหอมเป็นที่สนใจในสายตานักลงทุนทั่วโลก

เทรนด์การลงทุนปี 64 วัคซีนต้านโควิดตัวแปรหุ้นใหญ่ฟื้น
จีนยังเนื้อหอมเป็นที่สนใจในสายตานักลงทุนทั่วโลก

แนวโน้มการลงทุนปีหน้า จับตาธุรกิจดั้งเดิม กลับมาฟื้นตัว หากวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กระจายทั่วโลกได้เร็ว จีนยังเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุน แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความผันผวนให้กับตลาดต่างประเทศ ด้านหุ้นไทยลุ้นดีดกลับไป 1,800 จุด หากธุรกิจใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวบนวิถี Next Normal ได้อย่างมีเสถียรภาพ ส่วนปีนี้ สินทรัพย์ที่อิงกับเทคโนโลยี ทั้งหุ้น ดัชนี หรือแม้แต่สกุลเงินดิจิทัล สร้างผลตอบแทนโดดเด่น

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า หุ้นในกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม (Traditional Asset) ในหลายบริษัท ที่ไม่ใช่หุ้นในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในขณะนี้ สังเกตจากการดีดกลับของราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม เช่น กลุ่มขนส่ง ธนาคาร ค้าปลีก สื่อสาร ที่จดทะเบียนในดัชนี Dow Jones เริ่มสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้บ้างแล้ว แม้ว่า จะยังไม่ใช่ระดับที่สูงนัก แต่มองว่าในปี 2564  บริษัทขนาดใหญ่ มีมูลค่าธุรกิจสูงเหล่านี้ น่าจับตามอง เพราะธุรกิจมีโอกาสฟื้นตัวได้ หากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวจริง

ทั้งนี้ มองปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาในปี 2564  คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีนที่ยังคงสร้างความผันผวนให้กับตลาดอย่างแน่นอน  แม้ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ คือ โจ ไบเด็น จะมีบุคลิกสุขุมกว่าโดนัล ทรัมป์ แต่นโยบายความสัมพันธ์กับจีน ที่มองว่าเป็นคู่แข่งทางการค้า รวมถึงการแข่งขันในทุกๆ ด้านไม่ได้เปลี่ยนไป

“สหรัฐฯ และจีนน่าจะยังคงโต้ตอบกันไปมาในด้านนโยบายการค้า และอาจจะรวมไปถึงนโยบายทางด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการทหาร แต่ในแง่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่า จีนมีโอกาสสูงที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ด้วยตัวเอง ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่น ขณะที่สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาการบริโภคจากทั่วโลก จึงทำให้ตลาดหุ้นจีนมีความน่าสนใจมากกว่า”

นอกจากนี้ ต้องจับตาสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังคงถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดปี 2563 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบการเงินมาโดยตลอด จน Balance sheet เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับระยะเวลา 5 ปี ในการแก้ไขปัญหาซับไพรม์ หากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวเม็ดเงินเหล่านี้จะมีการไหลไปยังสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโต และสร้างผลตอบแทนได้สูง

ส่วนตลาดหุ้นไทย ถ้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ เป็นไปได้สูงที่หุ้นขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขนส่ง ธนาคาร ค้าปลีก สื่อสาร จะกลับมามีผลประกอบการที่เติบโตขึ้น และผลจากการที่สภาพคล่องที่ล้นโลกบางส่วนไหลเข้ามาในประเทศไทย อาจมีส่วนช่วยดันดัชนี SET Index ให้สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในปี 2564 แต่จะสามารถกลับไปยืนที่ระดับ 1,800 จุด ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตได้ หรือ ไม่ ต้องติดตามว่าบริษัทขนาดใหญ่นี้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับ Next Normal ได้มากน้อยเพียงใด

“โดยรวมแล้วภาพรวมการลงทุนในปี 2564 ยังมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีในหลายสินทรัพย์ แต่หลายสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นมาเยอะมากในปีนี้ ถ้าหากไม่สามารถรักษาโมเมนตัมเชิงบวก หรือ Growth Story ต่อไปได้ ก็อาจเจอแรงเทขาย ขณะที่หุ้นในกลุ่ม Traditional อาจฟื้นตัวกลับขึ้นมา แต่อาจจะไม่ใช่ทุกกิจการที่จะกลับไปอยู่จุดเดิมก่อนเกิดวิกฤตได้”

ส่วนการลงทุนในปี 2563 หากพิจารณา ตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน หรือ Year To Date ผล คือ สินทรัพย์ที่อิงกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ดัชนี NASDAQ หรือ สินทรัพย์ยุคใหม่ อย่างบิทคอยน์ ต่างสร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดีระดับ 166%

โดยหุ้นของบริษัทเทสล่า (TESLA) สามารถสร้างผลตอบแทนได้กว่า 662% ในปีนี้ ขณะที่หุ้น Moderna ผู้ผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 สร้างผลตอบแทนได้กว่า 300% ขณะที่หุ้นบริษัทอะเมซอน (AMAZON) สร้างรีเทิร์นได้ 71% ได้อย่างขาดลอย ขณะที่ดัชนี NASDAQ เองสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 43% เอาชนะดัชนี S&P500 ที่สร้างผลตอบแทนได้เพียง 13%

“ไม่ผิดคาดนัก ที่หุ้นของบริษัททางด้านเทคโนโลยี จะสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูงในปีนี้ เพราะการเกิด New Normal หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งการเติบโตของเทคโนโลยี ประกอบกับสภาพคล่องส่วนเกินที่เข้ามาในตลาด จากการทำคิวอีได้ไหลไปหาสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูง อย่างหุ้นเทคโนโลยี เห็นได้จากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่างกลุ่ม FAANG ที่ปรับตัวขึ้นแรง และพยุงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไว้แทบทั้งหมด”

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากทองคำ ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีพอสมควรที่ระดับ 18% โดยลดลงจากจุดสูงสุดที่ระดับ 30% ยังมีแร่เงิน (Silver) ที่สร้างผลตอบแทนได้ถึงระดับ 32% แต่สินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนแย่ที่สุด คือ น้ำมันดิบ โดยราคาน้ำมัน WTI ติดลบลงถึง 23% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว