กรีนสมาร์ทซิตี้ จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โชว์ศักยภาพ วัน แบงค็อก
โครงการต้นแบบ เพื่อการสร้างสรรค์เมืองแห่งอนาคต ในงาน Sustainability Expo 2023
ปิดฉากไปแล้วสำหรับงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน เรียกได้ว่าเป็นงานที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีความตื่นรู้ เข้าใจ และเริ่มลงมือเปลี่ยนเพื่อสร้างความยั่งยืนมากขึ้น โดยปีนี้ วัน แบงค็อก โครงการอสังหาริมทรัพย์ต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ ที่ครบครันใจกลางกรุงเทพฯ พัฒนาโดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด The Heart of Bangkok เมืองที่ยึดเอา “หัวใจ” ของผู้คนเป็นศูนย์กลาง ได้เข้าร่วมงานเพื่อจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนด้วย
ภายในงาน วัน แบงค็อก ได้รังสรรค์ One Bangkok Immersive Pavilion เพื่อนำเสนอรายละเอียดของโครงการผ่านนิทรรศการในรูปแบบ Immersive Experience แสดงภาพจำลองขององค์ประกอบและพื้นที่ต่าง ๆ ในโครงการ ตลอดจนนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนอันล้ำสมัยที่นำมาใช้กับโครงการฯ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านเนื้อหา 3 แง่มุม ประกอบด้วย Smart Technologies, Sustainable Development และ Unparalleled Experiences in One Bangkok โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานอย่างล้นหลามตลอดทั้ง 7 วันที่จัดแสดง
นอกจากนี้ ยังได้มีผู้นำระดับแถวหน้าจากองค์กรระหว่างประเทศ ภาครัฐ และเอกชน มาร่วมเปิดมุมมองด้านการพัฒนาเมืองที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “The Future of Sustainability and Smart City Living for Better Community” และ “Masterplan Design for Smart Sustainable Cities”
โดยเวทีเสวนาในหัวข้อ “The Future of Sustainability & Smart City Living for Better Community” ได้รับเกียรติจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอสังริมทรัพย์ระดับโลก ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และนักสิ่งแวดล้อมตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ร่วมเสนอแนวคิด ประสบการณ์ และแนวทางในการสร้างความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ท ซิตี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของชุมชน
และในการเสวนาเวทีที่สอง หัวข้อ “Masterplan Design for Smart Sustainable Cities” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอสังหาฯ บริษัทออกแบบ บริษัทสถาปนิก และบริษัทก่อสร้างแถวหน้าของไทยมาร่วมกันบอกเล่าถึงการออกแบบผังเมืองของโครงการอสังหาฯ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์เมืองที่ยั่งยืน โดยมีการยกตัวอย่างโครงการระดับโลกต่างๆ ที่มีมุมมองในการออกแบบที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า การจัดการกับปัญหา “Global Warming” หรือที่ปัจจุบันน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “Global Burning” เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกคน ทุกองค์กรต้องร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และทาง UNDP ก็ได้มีการดำเนินงานร่วมกับทั้งทางภาค รัฐ และ ภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การสร้างเมืองที่น่าอยู่อาศัยและสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น อาคารที่พักอาศัย ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะต้องเป็นเมืองที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ชุมชน และสังคมด้วย และการจะสร้างเมืองที่น่าอยู่ให้เกิดขึ้นจริง ต้องอาศัยภาคเอกชนในการร่วมผลักดันนโยบายของภาครัฐให้เป็นจริง รวมทั้งสร้างตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้คนในสังคมได้เห็นและจับต้องได้
ด้านคุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 30 ปี กลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ให้ความสำคัญกับการให้บริการในรูปแบบทีเรียกว่า “Real Estate as a Service” หรือการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งให้บริการอย่างลึกซึ้งเข้าถึงผู้ใช้งาน ซึ่งถือเป็นหัวใจของความสำเร็จของธุรกิจที่ยั่งยืน โดยบริษัทได้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาแล้วมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ และได้รวมเอาประสบการณ์จากการสร้างโครงการต่างๆ มาใช้ในการพัฒนา วัน แบงค็อก โดยได้ทำการศึกษา ทำความเข้าใจสังคม วิถีชีวิตและความคาดหวังของชุมชนโดยรอบก่อนก่อสร้าง เพื่อให้ชุมชนโดยรอบเข้ามามีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์จากโครงการ วัน แบงค็อก จึงออกแบบให้มีพื้นที่เปิดโล่งและพื้นที่สีเขียวซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของโครงการ รวมถึงการออกแบบให้มีสวนสาธารณะแนวยาว (Linear Park) ขนาดกว้างจากทางเท้าถึงหน้าโครงการถึง 35 – 45 เมตร อยู่ระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติให้คนทุกระดับสามารถเข้ามาร่วมใช้ได้ อาทิ พื้นที่สวนพักผ่อน พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ มีการจัดแสดงผลงานศิลปะในที่ต่างๆ ในโครงการ ซึ่งช่วยสร้างความผ่อนคลายและแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้เรายังวางระบบบริหารจัดการภายในโครงการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มของ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ที่จะเป็นองค์กรที่ปลอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050
ส่วนคุณเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงสาวที่ผันตัวมาเป็นนักสิ่งแวดล้อมได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ปิดไฟเมื่อไม่ใช้ ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ใช้ขวดน้ำส่วนตัว เพื่อลดขยะจากขวดพลาสติก เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่หากทุกคนเริ่มลงมือทำ ก็จะเกิดเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
ในมุมมองของสถาปนิกที่ออกแบบโครงการสำคัญๆ มาแล้วมากมายอย่าง คุณนิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่ละรายจะมีการกำหนดมาตรฐานการทำงานของตนเองแตกต่างกันไป โดยเฉพาะการออกแบบโครงการ วัน แบงค็อก โดยตั้งเป้าเป็นโครงการแรกของประเทศที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับ Platinum ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดของเกณฑ์การประเมินอาคารสีเขียวของสหรัฐอเมริกา รวมถึงมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร และเชื่อว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะมีศักยภาพที่จะได้รับรางวัลทางด้านการออกแบบจากหลากหลายสถาบันอย่างแน่นอน
อีกหนึ่งมิติในการสร้างความยั่งยืน คือ การออกแบบภูมิสถาปัตย์ ซึ่งคุณวรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด ชี้ประเด็นว่า การออกแบบภูมิทัศน์เพื่อเติมเต็มเมือง ต้องยึดเป้าหมายว่าเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การออกแบบทั้งภายในและภายนอกโครงการต่างๆ ต้องมีการเชื่อมโยงกับชุมชนโดยรอบ กับเมืองและปัญหาของเมือง รวมถึงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ซึ่งโครงการ วัน แบงค็อก ตอบโจทย์ทั้งหมดนี้ เช่นการเปิดพื้นที่ว่างให้ชุมชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในโครงการได้ มีพื้นที่สีเขียวที่มากกว่ากฎหมายกำหนดเพื่อเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และกรองฝุ่น การเลือกใช้ต้นไม้ในโครงการที่ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ในอดีต เป็นต้น
ในส่วนของกระบวนการก่อสร้าง คุณนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า การที่จะสร้างเมืองที่ยั่งยืน เราได้ร่วมมือกับโครงการ วัน แบงค็อก ที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้วยการนำเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างและวัสดุที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นการใช้ hybrid cement ที่ลดการใช้พลังงานได้ถึง 38% การนำเศษคอนกรีตที่เหลือใช้กลับมาเป็นส่วนผสมผนังอาคารลดการใช้ทรัพยากร การนำนวัตกรรมพลังงานสะอาดมาใช้โดยนำรถโม่พลังงานไฟฟ้า “CPAC EV Mixer Truck” มาใช้เป็นที่แรกในประเทศไทยสำหรับขนส่งคอนกรีตตามแนวคิดการขนส่งสีเขียว (Green Fleet) เพื่อมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยสู่ความยั่งยืน
คุณวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวเสริมว่า การพัฒนาเมือง (Urbanization) กับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการสร้างชุมชนเมืองที่ยั่งยืน “โครงการ วัน แบงค็อก เรามีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาด้านต่างๆ ในโครงการ ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้รับเหมา และ พาร์ทเนอร์ทุกรายต้องเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงการก่อสร้าง นอกจากนี้เรายังมีการนำของเสียที่เกิดจากไซต์งานก่อสร้างและนำกลับมาใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้างอาคาร ซึ่งสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเราได้ทำงานประสานกับทุกส่วนตั้งแต่แรกเริ่มต้นวางแผน ทั้งผู้พัฒนาอสังหาฯ ผู้ก่อสร้าง สถาปนิก และ ภูมิสถาปนิก สิ่งที่ได้จึงเป็นรูปแบบที่มีความสมดุล ความลงตัว ตอบโจทย์สังคมซึ่งเป็นสาระสำคัญของการพัฒนาอสังหาฯ ที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไปในอนาคต” คุณวรวรรตกล่าว
การเสวนาทั้งสองเวที สะท้อนความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน โดย วัน แบงค็อก ถือเป็นตัวอย่างของกรีนสมาร์ทซิตี้ที่ครบครัน คำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติตั้งแต่เริ่มร่างแนวคิดของโครงการ ตลอดจนการบริหารจัดการโครงการให้เกิดความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม