ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยเผยภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมชะอำ-หัวหิน ช่วง 3 ไตรมาสแรก 2561
นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมชะอำ-หัวหินใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 ส่งสัญญาณเชิงบวกหลังชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการสำรวจและวิจัยของ ไนท์แฟรงค์ประเทศไทย พบว่าระหว่าง ม.ค. – ก.ย. 2561 มีคอนโดมิเนียมใหม่เข้าสู่ตลาดรวม 1,041 ยูนิต เพิ่มขึ้นกว่า 164 % เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอุปทานใหม่เหล่านี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหัวหินและพัฒนาโดยผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการใหม่นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มีเพียง 35% เท่านั้นที่ตั้งอยู่หน้าหาด หรือไม่ไกลจากริมทะเลมากนัก (Seaview Projects) เนื่องจากที่ดินติดทะเลในชะอำ-หัวหินเริ่มหายากและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระยะหลังผู้ประกอบการหันมาสนใจพัฒนาโครงการทำเลในเมืองมากขึ้น โดยชูจุดขายด้านความสะดวกสบายที่รายล้อมโครงการ ตลอดจนรูปแบบโครงการที่นำเสนอให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนาดห้อง พื้นที่ใช้สอยภายในห้อง และส่วนกลางที่เน้นฟังก์ชั่นลงตัวมากขึ้นแต่ยังคงสวยงามกลมกลืนไปกับบรรยากาศของเมืองพักผ่อนตากอากาศ
จำนวนคอนโดมิเนียมในพื้นที่ชะอำ หัวหิน พ.ศ. 2551 – ไตรมาส 3 2561
ด้านอุปสงค์ เฉพาะโครงการเปิดใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 มียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 75% ซึ่งปัจจัยหลักที่สนับสนุนการขายของโครงการเหล่านี้นอกจากจุดขายต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ชื่อเสียงของผู้ประกอบการก็นับเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้ออีกด้วย ทั้งนี้สำหรับพื้นที่ชะอำ-หัวหิน ผู้ซื้อหลักยังคงเป็นชาวไทยที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นบ้านพักตากอากาศหรือปล่อยเช่า มากกว่าการซื้อเพื่อเก็งกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนราคาขายของโครงการเปิดใหม่ในพื้นที่ชะอำ-หัวหิน ระหว่าง ม.ค.-ก.ย. 2561 พบว่ามีราคาเสนอขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 96,000 บาทต่อ ตร.ม. ลดลง 9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากโครงการใหม่เหล่านี้อยู่ใน segment และทำเลที่ด้อยกว่า
อุปทาน อุปสงค์และอัตราการขายสะสมของคอนโดมิเนียมในพื้นที่ชะอำ หัวหิน พ.ศ. 2551 – ไตรมาส 3 2561
ราคาเสนอขายคอนโดมิเนียมชะอำ หัวหินที่เปิดตัวระหว่าง พ.ศ. 2551 – ไตรมาส 3 2561
สำหรับสถานการณ์ตลาดในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี คาดว่าจะมีซัพพลายต์เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 200-300 หน่วย นับว่าเป็นผลดีในแง่การรักษาสมดุลของตลาดหลังจากผ่านช่วงชะลอตัวมาได้ไม่นาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจส่งผลลบคือนโยบาย Macroprudential สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยไนท์แฟรงค์ประเทศไทย คาดการณ์ว่านโยบายดังกล่าว อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อชาวไทยบางส่วนที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในชะอำ-หัวหินเพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศ หรือซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่า