MQDC x THE FORESTIAS สรุปแคมเปญ “Forest Rescue – ฟอเรส เรสคิว” ช่วยชีวิตต้นไม้กว่า 500 ต้น สร้างกำแพงธรรมชาติดักฝุ่น PM 2.5 มากถึง 700 กิโลกรัมต่อปี

MQDC x THE FORESTIAS

สรุปแคมเปญ “Forest Rescue – ฟอเรส เรสคิว” ช่วยชีวิตต้นไม้กว่า 500 ต้น

สร้างกำแพงธรรมชาติดักฝุ่น PM 2.5 มากถึง 700 กิโลกรัมต่อปี

 บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผู้ดำเนินกิจการพัฒนา ลงทุน และจัดการอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของและผู้พัฒนาโครงการที่พักอาศัยและมิกซ์ยูสคุณภาพ โครงการ THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์ สรุปความสำเร็จแคมเปญ “Forest Rescue – ฟอเรส เรสคิว” ปฏิบัติการกู้ชีพต้นไม้รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติมากกว่า 10 ล้านคน โดยลงพื้นที่ช่วยต้นไม้ขนาดใหญ่ได้กว่า 500 ต้น พร้อมย้ายสู่บ้านหลังใหม่ภายในโครงการ THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์ บนพื้นที่ที่จัดสรรให้ 3 ไร่ หรือ  4,800 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในกำแพงธรรมชาติที่สามารถดักฝุ่น PM 2.5 มากถึง 700 กิโลกรัมต่อปี

นายกิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา โปรเจกต์แฟลกชิพ “THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์” ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการแรกที่มุ่งมั่นนำเสนอโมเดลการใช้ชีวิตที่เข้ากับระบบนิเวศอันสมดุลเพื่อความสุขที่ยั่งยืน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Imagine Happiness” ความสุขในการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติระบบนิเวศขนาดใหญ่ นำเสนอแคมเปญ “Forest Rescue – ฟอเรส เรสคิว” ปฏิบัติการกู้ชีพต้นไม้รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติและต้นไม้ใหญ่ในเมือง ควบคู่กับการจัดตั้งทีมปฏิบัติการ หรือ Forest Rescue Team กระจายตัวลงพื้นที่เพื่อสำรวจ บำบัด และให้ความช่วยเหลือในการขนย้ายต้นไม้จากแหล่งพื้นที่เดิมที่ไม่เหมาะสมไปยังบ้านหลังใหม่ที่มีระบบนิเวศขนาดใหญ่ ภายในโครงการ THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์ บนพื้นที่ที่จัดสรรในการรองรับประมาณ 3 ไร่ หรือ 4,800 ตารางเมตร”

ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้สร้างการรับรู้และตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติให้กับกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้มากกว่า 10 ล้านคน ปัจจุบัน ทีมงานได้วิเคราะห์และประเมินข้อมูลของต้นไม้ที่ถูกนำเสนอเรื่องราวความช่วยเหลือกว่า 500 ต้น สำหรับต้นไม้ที่ได้ให้การช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่มีอายุเฉลี่ย 5-10 ปีขึ้นไป อาทิ ต้นจามจุรี ต้นก้ามปู ต้นพญาสัตบรรณ ต้นหูกระจง ต้นมะขาม ต้นมะม่วง เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์และสัตว์ มีคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซที่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น พร้อมทั้งสามารถสร้างก๊าซออกซิเจนกลับคืนได้ถึง 100 – 125 ล้านลิตรต่อปี (ค่าเฉลี่ยต้นไม้ 1 ต้น สามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้ 200,000 – 250,000 ลิตรต่อปี) เท่ากับรองรับความต้องการก๊าซออกซิเจนของมนุษย์ได้ถึง 1,000 คนต่อปี หรือดักจับอนุภาคฝุ่นละออง ควัน และไอพิษต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพได้ถึง 700 กิโลกรัมต่อปี (ค่าเฉลี่ยต้นไม้ 1 ต้น ดักจับอนุภาคฝุ่นได้ 1.4 กิโลกรัมต่อปี)

สอดคล้องกับงานวิจัยโดยหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “บริเวณพื้นที่ต้นไม้ใหญ่ที่ทีมวิจัยออกสำรวจพบว่าอนุภาคฝุ่นละอองลดลงประมาณ 7 – 24% และบริเวณนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยลดลง เป็นผลมาจากการคายน้ำของต้นไม้แสดงให้เห็นว่าต้นไม้สามารถช่วยแก้ปัญหาหมอกควันในเมืองได้จริง” นอกจากนี้ ในเมื่อปี ค.ศ. 2017 ยังมีรายงานที่เผยแพร่ลงในวารสาร Atmospheric Environment ชี้ว่า “ต้นไม้ใหญ่ช่วยดูดซับมลพิษแค่ในพื้นที่เปิดโล่ง แต่สำหรับในเมือง “พุ่มไม้” เหมาะที่สุดในการดักจับฝุ่นควันที่ส่วนใหญ่แล้วมาจากท่อไอเสียรถยนต์ เนื่องจากบางครั้งต้นไม้ใหญ่ก็สูงเกินไปที่จะจัดการกับมลพิษบนท้องถนน”

ทั้งนี้ ต้นไม้ทุกต้นจะได้รับการดูแลจนกลับมาเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง พร้อมเป็นต้นไม้พี่เลี้ยงให้กับต้นกล้าที่โครงการปลูกด้วยเมล็ด รวมทั้งสิ้นมากกว่า 30,000 ต้น ภายใต้ทฤษฎีการปลูกป่าเชิงนิเวศแบบยั่งยืน หรือ Eco-Forest ทำให้เกิดระบบนิเวศที่หลากหลายครอบคลุมพื้นที่ของผืนป่าสาธารณะ “Forest at THE FORESTIAS – ฟอเรส แอท เดอะ ฟอเรสเทียส์” จำนวนทั้งสิ้น 30 ไร่ หรือ 48,000 ตารางเมตร โดยเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้วจะเปิดบางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนเข้าชม พักผ่อน หรือศึกษาระบบนิเวศธรรมชาติโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณก๊าซอ๊อกซิเจนในอากาศได้สูงถึง 6,000 – 7,500 ล้านลิตรต่อปี ดักจับฝุ่นได้มากถึง 420,000 กิโลกรัมต่อปี และทำให้อุณหภูมิในบริเวณพื้นที่มีอุณหภูมิลดลงประมาณ 2-4 องศาเซลเซียส