ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยเผยโอกาสการเกิดเทคฯคลัสเตอร์ แบบอย่างจากลอนดอนสู่กรุงเทพฯ
นายณพกิตติ์ เลิศหิรัญวิบูลย์ นักวิจัยอสังหาฯ ฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด อธิบายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นหากประเทศไทยจะแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีส่วนสร้างรายให้กับประเทศได้ประมาณ 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในปี 2570 ความเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลส่งผลต่อภาคธุรกิจและ โอกาสทางการตลาด ซึ่งจะมีความต้องการพื้นที่ทำงานลักษณะใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นในตลาดอสังหาฯเชิงพาณิชย์
สิ่งสำคัญในประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเต็มที่อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร คือ การรวมกลุ่มธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีในรูปแบบคลัสเตอร์เพื่อเป็นรากฐานสำคัญให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล (Tech Clusters) ในส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุเทคฯคลัสเตอร์ที่ชัดเจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลัสเตอร์ที่เติบโตโดยไม่ใช้นโยบายการรวมกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ที่ถูกกำกับโดยภาครัฐ เช่น ย่านธุรกิจเทคโนโลยีคุณภาพสูง (Designated high-technology business districts) หรือ อุทยานวิทยาศาสตร์ (Science parks) วิธีเช่นนี้ไม่เหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการที่ขาดแคลนกำลังการผลิตหรือเงินทุนจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม เทคฯคลัสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จอาจอยู่ในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในความสนใจมาก่อนก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ย่านชอร์ดิทช์ (Shoreditch) ที่ตั้งอยู่ใจกลางอีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้ (East London Tech City) ในลอนดอน โดยหลังสงครามโลกครั้งที่สองชอร์ดิทช์เป็นย่านที่มีแต่ความทรุดโทรม ความยากจน และระดับอาชญากรรมสูง แต่ในศตวรรษที่ 21 พื้นที่บริเวณชอร์ดิทช์กลายเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เต็มไปด้วยร้านค้า สตูดิโอ แกลเลอรี่ และร้านกาแฟ
อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้เป็นตัวอย่างของเทคฯคลัสเตอร์ที่เติบโตได้ขึ้นเองในพื้นที่ที่เคยถูกมองข้ามไปและเมื่อมองหาพื้นที่ที่เคยถูกมองข้ามสำหรับโอกาสในการเกิดเทคฯคลัสเตอร์ในกรุงเทพจะพบว่าเขตประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหนึ่งทำเลที่ค่อนข้างมีศักยภาพ เขตประดิษฐ์มนูธรรมเป็นพื้นที่ที่คล้ายกับชอร์ดิทช์เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาเพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสนจากกลุ่มเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วบริเวณประดิษฐ์มนูธรรมนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเป็นฮอตสปอตของเศรษฐกิจดิจิทัลสมัยใหม่
เหตุใดเทคฯคลัสเตอร์จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ?
การรวมกลุ่มธุรกิจส่งเสริมการสร้างเครือข่ายที่ดีไม่ว่าจะเป็นกับทั้งซัพพลายเออร์ ลูกค้า ผู้ร่วมงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองใหม่ๆระหว่างบริษัทและพนักงานในพื้นที่ใกล้เคียงกันนำไปสู่การพัฒนา นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อบริษัทที่ต้องการสร้างและรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ความรู้ที่ได้จากบริษัทและสถาบันต่างๆอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านการบริหารองค์กร การตลาด และโครงสร้างองค์กร ซึ่งถือเป็นประโยชน์มากสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพและธุรกิจเอสเอ็มอีที่สามารถรวบรวมมุมมองและประสบการณ์ของบริษัทอื่นๆ
อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้
The Centre for London think tank เผยว่า อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้เป็นจุดรวมบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง (High-tech companies) ครอบคลุมพื้นที่หลายเขตในลอนดอน ประกอบด้วย อิสลิงตัน (Islington), แฮคนี (Hackney), ทาวเวอร์ แฮมเล็ตส์ (Tower Hamlets) และลอนดอน (the City of London) โดยแกนหลักของเทคฯคลัสเตอร์ คือ กลุ่มบริษัทที่ตั้งอยู่ในย่านชอร์ดิทช์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ย่านนี้ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในปี 2523 กลับดึงดูดบริษัทให้บริการและธุรกิจครีเอทีฟที่นำมาซึ่งกระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม คลังสินค้าถูกทำเป็นสำนักงาน แฟลต ผับ บาร์ หอศิลป์ ร้านอาหาร เป็นต้น
อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้ดึงดูดกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากเข้าสู่ในพื้นที่ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีตั้งแต่บริษัทสตาร์ทอัพไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ บริษัท Google ได้สร้างศูนย์นวัตกรรมเพื่อรองรับบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีและพัฒนาแอพพลิเคชั่นและบริการเพื่อคนรุ่นใหม่ในปี 2554 ในขณะที่บริษัท Amazon ได้เปิดศูนย์พัฒนาสื่อดิจิทัลในปี 2560
ข้อมูลจาก the Centre for London think tank เผยว่า จำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2540-2553 โดยเพิ่มขึ้นจาก 1,591 เป็น 3,289 แห่ง ในขณะเดียวกันอัตราการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลก็เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงเดียวกัน เพิ่มขึ้นจาก 12,931 เป็น 48,586 อัตรา ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าในลอนดอนโดยรวมทั้งหมด
บริษัทส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในอีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้เป็นบริษัทที่เปิดมาได้ไม่นาน ด้วยจำนวนประมาณ 62% ของบริษัทที่ถูกสำรวจโดย the Centre for London เปิดมาเพียง 5 ปีหรือต่ำกว่านั้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างจัดอยู่ในหมวดธุรกิจขนาดเล็กย่อย (มีพนักงานน้อยกว่า 10 คน) หนึ่งในสามเป็นบริษัทขนาดเล็ก (มีพนักงาน 11 – 50 คน) และธุรกิจขนาดกลางเป็นส่วนที่น้อยที่สุด ผู้ก่อตั้งบริษัทส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20 – 30 ปี (คิดเป็น 80%) และมีเพียงส่วนน้อยอยู่ในวัย 40 ปีขึ้นไปที่มีประสบการณ์ทำงานในบริษัทมาอย่างน้อย 2 – 4 แห่ง โดยรวมแล้วแสดงให้เห็นว่าคนทำงานส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20 – 44 ปี
กราฟ 1 : อายุและขนาดของบริษัทเทคซิตี้
อายุของบริษัทฯ
ขนาดของบริษัทฯ
ที่มา : Centre for London
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หลายเขตในเทคฯซิตี้ขาดแคลนภาคการลงทุนและมีประชากรย้ายออกเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 2514 – 2524 ประชากรรวมของย่านแฮคนีและย่านทาวเวอร์ แฮมเล็ตส์ลดลงกว่า 15% ในทางตรงกันข้ามในช่วงปี 2550-2560 จำนวนประชากรในย่านทาวเวอร์ แฮมเล็ตส์เพิ่มขึ้น 37% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตของประชากรที่เร็วที่สุดในบรรดาพื้นที่ 391 แห่งในสหราชอาณาจักร โดยในย่านนี้ประชากรมีอายุเฉลี่ยที่ 31 ปี และ 54% ของประชากรอยู่ในช่วงอายุ 20-44 ปี ในขณะที่ 50% ของผู้อยู่อาศัยในย่านแฮคนีในปี 2554 มีอายุอยู่ในช่วงเดียวกัน ทั้งสองย่านนี้มีอัตราประชากรมากกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรในลอนดอนในปัจจุบันที่ 41% สำหรับขนาดของครัวเรือนในพื้นที่ทั้งสองย่านนี้เป็นขนาดเล็ก โดยประมาณ 35% เป็นประเภทครัวเรือนเดี่ยว ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของขนาดครัวเรือนในลอนดอนอยู่ที่ 32% โดยรวมแล้วแสดงให้เห็นว่าเขตเทคฯซิตี้ดึงดูดคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีครอบครัว
กราฟ 2 : อายุประชากรของย่านต่างๆ ในเมืองเทคซิตี้
ที่มา : Hackney & Tower Hamlets borough profiles
สำหรับธุรกิจเก่าแก่ การตัดสินใจในการก่อตั้งธุรกิจให้เป็นที่รู้จักในพื้นที่นั้นเป็นเรื่องบังเอิญเนื่องจากไม่มีกลยุทธ์ในการจัดตั้งเทคฯซิตี้ที่ระบุได้แน่ชัด ผู้ก่อตั้งธุรกิจบางรายอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงหรือบางรายถูกดึงดูดด้วยราคาค่าเช่าที่ถูก Co-working spaces มีบทบาทในการช่วยดึงดูดผู้เช่าเนื่องจากพื้นที่ทำงานประเภทนี้มักมีราคาเช่าที่ต่ำกว่าอาคารสำนักงานที่เปิดให้บริการทั่วไป ในขณะเดียวกันธุรกิจที่มีอายุน้อยมีความรอบคอบในการตัดสินใจที่จะย้ายเข้ามาในย่านนี้ พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำเลที่ตั้งบริษัทมากขึ้น เนื่องจากบริษัทยุคใหม่เข้าใจดีว่าทำเลที่ตั้งบริษัทเป็นสิ่งสำคัญในการจูงใจและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ได้
ในปัจจุบัน บริษัทหลายแห่งกำลังตั้งเป้าไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างผู้คนและสถานที่ บริษัทบางส่วนที่เปิดมาไม่นานถูกดึงดูดให้ย้ายไปยังเทคฯซิตี้ เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลาย มีทั้งบาร์และร้านอาหารให้เลือกหลากหลาย มีสถานที่เที่ยวยามค่ำคืนมากมาย เทคฯซิตี้ยังมีคุณสมบัติดีๆ อีกหลายด้าน เช่น บริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกันหรือที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน การสร้างแบรนด์และข้อมูล พื้นที่สำนักงานราคาไม่แพงและอยู่ใกล้กับใจกลางเมืองลอนดอน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ถึงแม้ว่าค่าเช่ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจด้านทำเลที่ตั้ง แต่ก็มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ผู้เช่าจำเป็นต้องพิจารณาเช่นกัน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ คาเฟ่ บาร์ และพื้นที่ทำงานร่วมกัน ช่วยให้บริษัทสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางและมีโอกาสในการทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งนี้เป็นสิ่งพิเศษสำหรับเทคฯคลัสเตอร์
ประดิษฐ์มนูธรรม
ถนนประดิษฐ์มนูธรรมมีระยะทางยาว 12 กม. จากซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) ถึงรามอินทรา เป็นถนนที่เชื่อมต่อพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯกับชานเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ โดยมีการตัดผ่านพื้นที่ 3 เขตหลัก ได้แก่ ลาดพร้าว วังทองหลาง และบางกะปิ ทั้งสามเขตนี้มีประชากรรวมทั้งหมด 377,843 คน และครอบคลุมพื้นที่รวม 68.9 ตารางกิโลเมตร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีประชากรจำนวนมากที่ย้ายออกจากพื้นที่เขตประดิษฐ์มนูธรรม นับจากปี 2552-2561 จำนวนประชากรรวมลดลงไป 10,407 คน คิดเป็นการลดลง 0.30% ในขณะเดียวกัน ประชากรของกรุงเทพฯลดลงไป 0.05% แม้ว่าจะเป็นข้อเสีย แต่การลดลงของจำนวนประชากรสามารถนำไปสู่โอกาสใหม่ๆได้เช่นกัน เทคฯซิตี้แสดงให้เห็นได้ว่าการลดลงของจำนวนประชากรสามารถสร้างโอกาสทางการเติบโตให้กับบริษัทขนาดเล็กที่ถูกดึงดูดจากค่าเช่าที่ถูก
ในปัจจุบัน มีประชากรจำนวนมากกว่า 50% ที่อาศัยอยู่ในเทคฯซิตี้อยู่ในช่วงอายุ 20-44 ปี จากเดิมเคยอยู่ที่ 34% ก่อนมีเทคฯซิตี้ในปี 2524 ในขณะที่ 37% ของประชากรในเขตประดิษฐ์มนูธรรมในปัจจุบันอยู่ในช่วงอายุนี้ ซึ่งสูงกว่าประชากรในย่านทาวเวอร์ แฮมเล็ตส์และย่านแฮคนีก่อนเป็นเทคซิตี้อยู่ 3% สิ่งนี้บ่งบอกให้เห็นว่ามีศักยภาพทางการเติบโตของประชากรวัยรุ่นใน 3 ย่านนี้ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับส่วนที่เหลือของกรุงเทพฯ ประชากรในย่านประดิษฐ์มนูธรรมกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเทคฯคลัสเตอร์ในไทยจะเกิดจากประชากรผู้สูงวัยกว่าในเทคฯซิตี้
กราฟ 3 : อายุประชากรในพื้นที่ประดิษฐมนูธรรม (2559)
ที่มา : Official Statistics Registration Systems (2561)
จากข้อมูลการทำธุรกรรมทางธุรกิจที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐในปี 2559 สรุปได้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในเขตประดิษฐมนูธรรมเป็นธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดแยกหมวดบริษัทขนาดเล็กว่าเป็นธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท และบริษัทขนาดกลางเป็นธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรระหว่าง 50-200 ล้านบาท มูลค่าเฉลี่ยของธุรกิจในเขตลาดพร้าวและเขตวังทองหลางมีสินทรัพย์รวมต่ำกว่า 50 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าธุรกิจเฉลี่ยในเขตบางกะปิมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 52 ล้านบาท ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่ในเขตประดิษฐ์มนูธรรมสามารถจัดอยู่ในหมวดธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในเขตนี้มีธุรกิจในขนาดที่เหมาะสมแก่การเริ่มต้นของคลัสเตอร์จำนวนมาก แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้สามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้เช่าให้ย้ายเข้ามาในพื้นที่ได้ ในทั้ง 3 เขตของประดิษฐ์มนูธรรมเห็นได้ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกประเภทร้านค้าปลีกมีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยกรุงเทพฯในเกือบทุกหมวดหมู่ นอกจากนี้เขตประดิษฐมนูธรรมเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าคุณภาพสูงหลายแห่ง ซึ่งมักจะหายากในพื้นที่นอกย่านศูนย์กลางธุรกิจ ได้แก่ เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ และคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา ซึ่งรวมพื้นที่ร้านค้าปลีกกว่า 250,000 ตร.ม. ตั้งอยู่บนถนนสายหลัก ในส่วนของสถานบันเทิงยามค่ำคืนในเขตประดิษฐมนูธรรมค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากมีร้านอาหาร และสถานบันเทิงจำนวนมากที่เปิดยามค่ำคืน เพื่อรองรับความต้องการของวัยรุ่น ซึ่งโดยรวมแล้วสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่นี้มีเพียงพอต่อคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มักพบได้ตามบริษัทเทคโนโลยีทั่วไป
กราฟ 4 : ร้านค้าปลีกในเขตประดิษฐมนูธรรม (2559) ที่มา : Bangkok Metropolitan Administration
ภายในระยะรัศมี 6 กม. โดยใช้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ – คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) เป็นจุดอ้างอิง พบว่ามีอาคารสำนักงานเพียง 9 แห่งเท่านั้น โดยมีอาคารแค่ 2 หลังที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ 3 เขตดังกล่าว แต่ยังไม่มีอาคารสำนักงานบนถนนประดิษฐ์มนูธรรม ถึงแม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่นี้จะมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเทคฯคลัสเตอร์ แต่ก็ยังคงมีความขาดแคลนพื้นที่สำนักงานคุณภาพสูง เทคฯคลัสเตอร์จะไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้หากไม่มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นยังคงมีความต้องการอย่างสูงในภาคอสังหาฯเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายที่เกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล
กราฟ 5 : การเปรียบเทียบที่ตั้งอาคารสำนักงานในเขตประดิษฐ์มนูธรรม
จุดอ้างอิง
Central Festival – CDC
ที่ตั้งอาคารสำนักงาน
- 111 Praditmanutham
- Jitt Uthai Building
- Tasniya Building
- Le Concorde Tower
- Sermsrap Building
- Preecha Complex
- Olympia Thai Tower
- V Office Building
- Rasa Tower I & II
ความขาดแคลนของระบบขนส่งมวลชนเป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่สำนักงานในเขตประดิษฐ์มนูธรรม อย่างไรก็ตาม มีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่พื้นที่ได้เป็นอย่างมาก โครงการที่น่าจับตามองที่สุดคือการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่กำหนดเปิดในปี 2565 และแผนการพัฒนาการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลเส้นสีเทา
พื้นที่เขตประดิษฐ์มนูธรรมมีคุณสมบัติข้อดีหลายด้านที่สามารถส่งเสริมเทคฯคลัสเตอร์จากบริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กและขนาดกลางในพื้นที่ อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาอีกหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขก่อนที่การรวมตัวในรูปแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งมวลชนในพื้นที่นี้จะต้องถูกพัฒนาเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของผู้สัญจรที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ ในขณะเดียวกันนักพัฒนาอสังหาฯจะต้องมองเห็นศักยภาพของย่านประดิษฐมนูธรรม เพื่อพัฒนาพื้นที่สำนักงานให้แก่บริษัทชั้นนำของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในปัจจุปัน มีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว เช่น 111 ประดิษฐมนูธรรมของกลุ่ม KE ที่คาดว่าจะมีพื้นที่สำนักงานประมาณ 10,800 ตร.ม. โดยมีที่ตั้งอยู่ระหว่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัลและคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา อย่างที่อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้ได้พิสูจน์ให้เห็นพื้นที่ฮอตสปอตของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีสามารถถูกพัฒนาจากพื้นที่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนได้ อย่างไรก็ตามเทคฯคลัสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จนั้น มีความซับซ้อนเป็นอย่างมากต้องใช้เวลาในการพัฒนาและจะต้องได้รับการส่งเสริมเพื่อให้มันกลายเป็นจริงได้ในที่สุด