ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยอสังหาฯ ไทยใน 5 เดือนแรกโต 29% แนะจับตาโอกาสและความท้าทายในครึ่งปีหลัง

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยอสังหาฯ ไทยใน 5 เดือนแรกโต 29%
แนะจับตาโอกาสและความท้าทายในครึ่งปีหลัง

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลการค้นหาอสังหาฯ ในเว็บไซต์ของ DDproperty ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าความต้องการอสังหาฯ ในไทยมีการเติบโตถึง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ช่วงเดือน 3-5 มีความต้องการอสังหาฯ สูงกว่าปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการประกาศใช้ LTV เมื่อวันที่ 1 เมษายน ผู้ประกอบการจึงเร่งปิดการขายผ่านโปรโมชั่่นต่าง ๆ ก่อนจะเริ่มใช้มาตรการ

ขณะที่แนวโน้มและความท้าทายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งหลังของปี 2562 ในด้านภาพรวมตลาด ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) คาดการณ์ว่าอสังหาฯ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีจำนวนหน่วยลดลง 17.9% มูลค่าการโอนลดลง 15.1% จากปีก่อน ขณะที่สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้กำลังซื้อยังไม่กลับมา ส่วนมาตรการ LTV ส่งผลสินเชื่อปล่อยใหม่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่อนที่อยู่อาศัยพร้อมกันตั้งแต่ 2 หลังขึ้นไป สำหรับดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.75% ตลอดทั้งปี และมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ (ลดภาษีเงินได้, ลดค่าโอนฯ-ค่าจำนอง) ยังไม่มีผลต่อตลาดมากนัก

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com กล่าวว่าครึ่งปีหลังนี้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ยังเน้นพัฒนาโครงการในทำเลรถไฟฟ้าสายใหม่ โฟกัสกลุ่มเรียลดีมานด์ ระดับราคา 3.5 – 8.5 ล้านบาท พร้อมทั้งเน้นเรื่องนวัตกรรม และการ Joint venture กับต่างประเทศ อาทิ จีน และญี่ปุ่น โดยผลสำรวจของ REIC พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงจากไตรมาสก่อน คาดว่ามาจากความกังวลในมาตรการ LTV

“สำหรับผู้บริโภคถือเป็นจังหวะที่ควรซื้ออสังหาฯ หลังแรก โดยเฉพาะราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อรับมาตรการลดหย่อนภาษี ส่วนผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 หรือซื้อเพื่อลงทุน ควรมีการสำรองเงิน และมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจของ DDproperty Consumer Sentiment Survey พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงพอใจกับตลาดอสังหาฯ ไทย”

นอกจากนี้ ข้อมูลการค้นหาอสังหาฯ ในเว็บไซต์ของ DDproperty พบว่าคำค้นตามพื้นที่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด 3 อันดับแรกใน 5 เดือนแรกของปีนี้คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และเชียงใหม่ ซึ่งยังคงเหมือนกับข้อมูล 3 อันดับแรกของปีก่อน นอกจากนี้ข้อมูลจาก 8 ใน 10 อันดับแรกเป็นคำค้นสำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อนให้เห็นความต้องอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าพื้นที่อื่นในประเทศ

หากพิจารณาจากประเภทอสังหาฯ ที่มีการค้นหามากที่สุด พบว่า 3 อันดับแรก คือ บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ สำหรับการค้นหาคอนโดฯ พบว่า 3 พื้นที่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ห้วยขวาง จตุจักรและวัฒนา ส่วนการค้นหาที่ดิน พบว่า 3 พื้นที่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ลาดพร้าว บางนาและบางกะปิ

“โดยข้อมูลจาก DDproperty Consumer Sentiment Survey รอบล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคตอันใกล้ โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจทั้งสินค้าใหม่และรีเซล เหตุผลที่คนไทยยังคงพึงพอใจกับสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในประเทศ คือ ราคาของอสังหาฯ ยังไม่สูงมากนัก ในขณะที่บางกลุ่มไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และราคาอสังหาฯ เพิ่มขึ้นและแพงเกินไป” นางกมลภัทร กล่าว

ในส่วนของข้อมูลการสำรวจ DDproperty Property Index รอบล่าสุด พบว่าเหตุผลที่ปริมาณอสังหาฯ เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราการดูดซับอสังหาฯ ในตลาดต่ำ ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวประกอบกับความไม่มั่นคงทางการเมือง หากพิจารณาจากประเภทอสังหาฯ ในตลาดพบว่า มีปริมาณคอนโดฯ มากที่สุดเมื่อเทียบกับอสังหาฯ ประเภทอื่น (91% ของซัพพลายในตลาด) โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 29% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงราคา 3.5-8.5 ล้านบาทปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น คือ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการก่อสร้างและราคาที่ดิน โดยราคาอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ มีการเติบโตประมาณ 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และสูงขึ้นกว่า 124% เมื่อเทียบกับเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ราคาคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ มีการเติบโตมากที่สุดเมื่อเทียบกับอสังหาฯ ประเภทอื่น โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เขตที่ราคาคอนโดฯ มีการเติบโตสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ จตุจักร บางเขน และวังทองหลาง เป็นผลจากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า

สภาพตลาดอสังหาฯ ในปัจจุบัน มีอัตราการดูดซับต่ำเนื่องจากเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูและความไม่มั่นคงทางการเมืองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น โดยดัชนีอุปทานที่อยู่อาศัยของกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2018 อยู่ที่ 259 จุด เพิ่มขึ้นเป็น 304 จุด ในไตรมาสแรกของปี 2019 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุปทานอสังหาริมทรัพย์บ่งชี้ว่าอัตราการดูดซับที่ลดลงเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูและความไม่มั่นคงทางการเมือง

แนวโน้มราคาอสังหาฯ ในปัจจุบันมีการเพิ่มสูงขึ้น มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ต้นทุนการก่อสร้างและราคาที่ดินที่สูงขึ้น โดยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2018 กับปี 2019 ราคาเฉลี่ยของที่พักอาศัยในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น 5% แต่เมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 124%

ราคาอสังหาฯ ในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดระยะเวลา 4 ปีตามด้วยพัทยาและหัวหิน โดยตามประเภททรัพย์สินราคาคอนโดมีการเติบโตสูงสุด เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2018 ซึ่งราคาอสังหาฯ ในเขตจตุจักรมีอัตราการเติบโตสูงสุด โดยหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของราคาอสังหาฯ คือส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง)

ข้อมูลที่น่าสนใจ

แหล่งข้อมูลที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจซื้ออสังหาฯ

  • 76% เลือกไปดูโครงการจริงด้วยตนเอง
  • 57% ดูผ่าน Property Portal
  • 47% จากโซเชี่ยลมีเดีย
  • 43% จากคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อน และคนในครอบครัว
  • 36% จากเว็บไซต์ของผู้พัฒนาอสังหาฯ
  • 25% จากโบรชัวร์
  • 15% จากนิตยสารกลุ่มอสังหาฯ
  • 11% จากเอเยนต์ขายอสังหาฯ

ผู้บริโภคใช้สื่อออนไลน์ในการเลือกดูข้อมูลอสังหาฯ มากขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังเลือกที่จะไปดูโครงการด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อ


5 ปัจจัยหลักทีคนใช้ตัดสินใจเมื่อเลือกซื้อที่พักอาศัย คือ

  • 81% ทำเลที่ตั้ง
  • 44% ความปลอดภัย
  • 36% ราคาต่อตารางเมตร
  • 33% สิ่งอำนวยความสะดวก
  • 17% ระบบสาธารณูปโภค

ระยะห่างระหว่างที่พักและสถานที่ต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยใช้พิจารณามากที่สุด โดย 5 อันดับแรก ได้แก่

  • 60% ความสะดวกและระยะทางในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ
  • 51% ระยะทางจากที่พักถึงที่ทำงาน
  • 38% ระยะทางจากที่พักถึงสถานบริการทางการแพทย์
  • 32% ระยะทางจากที่พักถึงห้างสรรพสินค้า
  • 25% ระยะทางจากที่พักถึงสวนสาธารณะ

ระยะทาง 400 – 500 เมตร จากระบบขนส่งสาธารณะคือระยะทางที่ผู้บริโภคพอรับได้ แต่ถ้ากลุ่มผู้บริโภคมีอายุมากขึ้นจะไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องระยะทางมากนัก