มหากาพย์ “แอชตัน อโศก” สะเทือนวงการอสังหาฯ
กรณีศึกษาที่ผู้บริโภคต้องรับเคราะห์
เป็นข่าวใหญ่โตและโด่งดังสะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง เมื่อคืนวันศุกร์ (30 กรกฎาคม 2564) ที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “แอชตัน อโศก” ซึ่งพัฒนาโครงการโดย บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN โดยเนื้อหาตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน ได้ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คน
หลังศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแลัว เห็นว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารโครงการ แอชตัน อโศก ไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด จนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารโครงการแอชตัน อโศก ที่ถนนสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสมควรที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างอาคารพิพาททุกฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว เพื่อมิให้คำสั่งดังกล่าวมีผลในระบบกฎหมายต่อไป
(ที่มา : สำนักข่าว Infoquest)
แรงกระเพื่อมของข่าวปรากฏไปทั่ว ยิ่งในปัจจุบันที่กระแสสื่อโซเชียล บล็อกเกอร์หยิบยกเอาไปพูดถึง ในหลากหลายประเด็น ทั้งในมุมของอนันดา/ภาครัฐ และรวมถึงลูกบ้าน แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของวงการ เพราะกรณีพิพาทนี้ได้ผ่านกระบวนมาหลายอย่างก่อนหน้านี้ ในปี 2561 โครงการเกือบโอนให้ลูกค้าไม่ได้ ทั้งๆที่อาคารเสร็จแล้ว แต่เอกสาร อ.6 หรือแบบฟอร์มการก่อสร้างและตรวจใช้อาคารไม่ได้รับการอนุมัติ จากการที่อนันดาฯ ได้ยื่นอุธรณ์เพื่อขอคุ้มครองกับกรุงเทพมหานคร จนสามารถโอนเข้าอยู่ได้
ทางออกอนันดา
เหตุการณ์ครั้งนี้ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ไม่รอช้า บริษัทฯ ได้ส่งเอกสารถึงสื่อมวลชนในคืนวันเดียวกันว่าว่า บริษัทมีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่สำคัญ ดังนั้น บริษัท “จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นคำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้นยังไม่มีผลบังคับจนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงยังไม่มีผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของเจ้าของร่วมแต่อย่างใด”
กรณีพิพาทดังกล่าว บริษัทฯ ผู้บริหารโครงการขอยืนยันว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ โดยผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ดังที่เคยแจ้งต่อสาธารณชนมาก่อนหน้านี้แล้ว
บริษัทฯ ขอให้ความมั่นใจว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าและเจ้าของร่วมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะมีการแจ้งให้เจ้าของร่วมและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้ทราบถึงความคืบหน้าต่อไป
ทางออกลูกบ้าน
ต่อประเด็นนี้มีคำถามขึ้นมามากมายว่า ขณะนี้ในส่วนของลูกบ้าน หรือผู้ที่ซื้อห้องภายในโครงการต่อจากผู้ซื้อครั้งแรกนั้นเป็นอย่างไร…. แน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ช้ำใจที่สุด ในเมื่อเรื่องยังคาราคาซัง และคงต้องรอกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้ตัดสิน แต่ขณะนี้ในเชิงภาพลักษณ์ หรือมูลค่าของโครงการที่ถูกกระทบจากข้อพิพาทดังกล่าว โอกาสจะซื้อขายเปลี่ยนมือนั้นยาก หรือมูลค่าซื้อขายคงลดฮวบจากที่เคยลงทุนซื้อห้องเมื่อช่วงเปิดโครงการแรกๆ ในปี 2557 โครงการเปิดตัวด้วยมูลค่าราคาต่อตารางเมตรที่ราวๆ 200,000 บาท/ตรม. และราคาขยับขึ้นมาเรื่อยๆจนอยู่ที่ราว 300,000 บาท/ตรม. เพราะทำเลสี่แยกอโศกติดรถไฟฟ้า MRT สถานีอโศก มีห้างสรรพสินค้า Terminal 21 สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในย่านเมืองเรียกว่าครบครับ เรียกได้ว่า แอชตัน คือสาวสวยแห่งแยกอโศกเลยก็ว่าได้
แต่วันนี้กรณีที่เกิดขึ้นไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แอชตัน อโศก นี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่งสำหรับผู้บริโภคในการพิจารณาซื้อคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะโครงการติดรถไฟฟ้าคงต้องพิจารณาให้รอบคอบและรอบด้าน นี่ขนาดโครงการหรูระดับหกพันล้าน ยังเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นได้ ติดตามมหากาพย์เรื่องนี้ กันต่อไป เอาใจช่วยกันทุกฝ่ายให้ได้ทางออกที่ดี
#PropDNAReport