HBA ส่องเทรนด์สูงวัย ดีไซน์บ้านแนวใหม่รับวัยเกษียณ
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวในปี 2565 และในปี 2573 คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น 26.9% ของประชากรทั้งประเทศ
จากอัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลง แต่มีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้นจากเทรนด์ด้านสุขภาพและการรักษา ส่งผลให้คนที่เกิดในยุค Baby Boomers ซึ่งเกิดในช่วงปี 2489 – 2507 ก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยการทำงานในระดับประเทศมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน เช่น ด้านสาธารณสุข ส่วนในระดับครอบครัวสิ่งที่ลูกหลานทำได้ดีที่สุดน่าจะเป็นการดูแลเอาใจใส่อาหารที่มีสุขภาพ ไปจนถึงที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้สอยเหมาะสมกับช่วงวัยของท่านจริง ๆ
บ้านแบบไหนสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี “สูงวัย” อยู่แล้วมีความสุข โดย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) จะมาแบ่งปันประสบการณ์ และส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ให้กับทุกครอบครัว ซึ่งความต้องการของ ปู่ย่า ตายาย ท่านไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าการได้อยู่กับลูกหลาน แวดล้อมด้วยบรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติ ให้ได้สูดอากาศที่สดชื่นในตอนเช้า และมีร่มไม้ร่มรื่นให้ได้นั่งเล่นในยามบ่าย
“การมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว ด้านการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สอดรับกับการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงด้านความปลอดภัยและมีความสุข ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะประสบปัญหาการหกล้ม และแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยบริเวณที่เกิดการหกล้มบ่อย ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ดังนั้น เทรนด์ใหม่ของการอยู่อาศัยในสังคมผู้สูงอายุ ต้องใส่ใจทั้งด้านกายภาพและสภาพจิตใจของผู้สูงอายุก็สำคัญ อยู่แล้วมีความสุข เช่น พื้นที่ทำกิจกรรมเลี้ยงสัตว์” นายวรวุฒิ กาญจนกุล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าว
ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุภายในบ้านในกลุ่มผู้สูงอายุที่ทุกบ้าน สามารถปรับได้ด้วยแนวคิดหลักในการออกแบบที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัยทุกวัย (Universal Design) จะมีอยู่ 5 จุดหลักสำคัญที่สามารถนำไปใช้ในการปรับพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเพื่อผู้สูงอายุที่ท่านรัก
- 1. Safety ความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม
- 2. Easy of use อุปกรณ์ต่าง ๆ ควรใช้งานง่าย สะดวกและออกแรงน้อย
- 3. Eligible ดีไซน์ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและข้อจำกัดของแต่ละบุคคล
- 4. Accessibility การจัดพื้นที่และอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว หรือ ก้าวเดิน
- 5. Stimulation การฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาผ่านการจัดสภาพแวดล้อม
ห้องนอน
การออกแบบห้องนอนผู้สูงอายุ ในส่วนพื้นห้องใช้วัสดุลดแรงกระแทกและไม่ควรมีพื้นที่ต่างระดับ เพื่อป้องกันการสะดุดและหกล้ม
ส่วนเตียงนอน เลือกขนาดให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ปรับระดับความสูงได้ มีราวจับข้างเตียง ฟูกที่นอนไม่แข็ง หรือ นิ่มเกินไป แล้วกันพื้นที่บริเวณข้างเตียงไว้รองรับในกรณีใช้งานรถเข็นได้ ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ ควรมีโต๊ะข้างเตียงเพื่อการหยิบจับได้สะดวก รวมทั้ง ตู้เสื้อผ้าและชั้นวางของ ควรมีระดับความสูงที่เหมาะสมกับผู้ใช้งาน
ภายในห้องนอน มีการติดตั้งราวจับบริเวณที่มีการลุกนั่ง พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างอัจฉริยะที่สามารถเปิด-ปิดอัตโนมัติ มีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวระหว่างเตียงนอนไปกลับห้องน้ำ โดยในส่วนของประตู ใช้แบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบนตัวล็อก ใช้งานง่าย และไม่ต้องออกแรงมากนัก
ห้องน้ำ
ขนาดของห้องน้ำที่ควรกว้างอย่างน้อย 200 เซนติเมตร เพื่อรองรับการใช้รถเข็น พร้อมกับจัดแบ่งพื้นที่โซนห้องน้ำเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน โดยพื้นที่โซนแห้ง การเลือกใช้อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนังที่สามารถรองรับน้ำหนักการเท้าแขนของผู้สูงอายุ ส่วนโถสุขภัณฑ์ควรเป็นแบบนั่งราบ ติดตั้งในระดับความสูงที่เหมาะสมเพื่อให้ลุกนั่งง่าย เท้าไม่ลอย และติดตั้งราวจับบริเวณข้างโถสุขภัณฑ์
ส่วนพื้นที่โซนเปียก เลือกใช้ที่นั่งอาบน้ำในขนาดและความสูงเหมาะกับผู้สูงอายุ รวมทั้งต้องแข็งแรงรับน้ำหนักได้ดี ก้านฝักบัวสามารถปรับระดับความสูงได้ และเลือกใช้วาล์วเปิด-ปิดน้ำ ที่สามารถคุมอุณหภูมิได้ พร้อมติดตั้งราวจับบริเวณพื้นที่อาบน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถยึดเกาะป้องกันการลื่นล้มได้
ที่สำคัญควรใช้กระเบื้องปูพื้นที่มีค่าความฝืดตั้งแต่ R10 ขึ้นไป เพื่อป้องกันการลื่นล้ม รวมไปถึงการติดตั้งราวจับโดยเฉพาะพื้นที่อาบน้ำ
ทั้งนี้ การสร้างบ้าน และการออกแบบบ้านแนวคิดใหม่เพื่อคนที่ท่านรัก ยังต้องใส่ใจในหลาย ๆ เรื่องด้วย ไม่ว่าการจัดการสิ่งกีดขวางบนพื้นให้น้อยที่สุด การออกแบบประตูทางเข้าให้มีความกว้างมากกว่าปกติเพื่อรองรับการใช้งานรถเข็นทั้งที่ใช้งานปกติ และในเวลาฉุกเฉิน การติดตั้งระบบไฟฟ้าให้ความสว่างทั้งเวลากลางวันและกลางคืน และการราวจับเพื่อความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวของผู้สูงวัย
อ้างอิง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
เอสซีจี