ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยเผยภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักชัวรี่ในกรุงเทพปี 2564
และแนวโน้มปี 2565
มร.คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโรงแรมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ลดลงไปเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าทั้งหมดลดลงไป 91% ปีต่อปี คิดเป็นประมาณ 560,000 คน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 174% ปีต่อปีในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตราการข้อจำกัดในการเดินทางภายใต้โครงการ ‘Test & Go’ ในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา
ในตอนต้นของช่วงครึ่งหลังปี 2564 รัฐบาลไทยได้เปิดตัวโครงการนำร่อง ‘Phuket Sandbox’ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งแรกในการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังมียอดผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนสูงสุดในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนั้น โดยในเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 20,000 รายต่อวัน ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดประเทศออกไปอีกครั้ง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยได้เริ่มโครงการ ‘Test & Go’ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 346,763 คนภายใต้โครงการนี้ ก่อนที่รัฐบาลจำต้องระงับโครงการลงชั่วคราวเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน
ในปี 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจากยุโรปคิดเป็น 51% ตามมาด้วยเอเชียตะวันออก 21% และฝั่งอเมริกา 13%
อุปทานและอุปสงค์
มาตราการด้านข้อจำกัดการเดินทางต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปี 2564 ทำให้ความต้องการที่พักโรงแรมอยู่ในระดับต่ำสุด โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 21% ต่ำกว่าในปี 2563 อยู่ที่ 6% จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง รวมไปถึงการแพร่ระบาดของไวรัสหลายสายพันธุ์ คลัสเตอร์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายๆ แห่ง และการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า คนไทยเริ่มฉีดวัคซีนกันในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดย ณ สิ้นปี 2564 มีประชากรทั้งหมดได้รับวัคซีนครบสองโดสคิดเป็นประมาณ 64%
อัตราการเข้าพักโรงแรมปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 คิดเป็น 22% โดยขับเคลื่อนด้วยปริมาณความต้องการจากภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากแคมเปญท่องเที่ยวภายใต้ชื่อ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ และการผ่อนคลายข้อกำหนดการเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้โครงการ ‘test & go ‘ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่ด้วยปริมาณความต้องการที่อ่อนแอและจำนวนห้องพักที่มีมากในกรุงเทพฯ ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยรายวัน (ADR) ของโรงแรมระดับลักซัวรี่ลดลงถึง 34% ปีต่อปี อยู่ที่ 2,949 บาท
แนวโน้มของตลาดที่ไม่ค่อยดีนัก ทำให้ไม่มีการเปิดตัวของโรงแรมใหม่ในระดับลักชัวรี่ในปี 2564 โรงแรมต่างๆ ที่วางแผนจะเปิดให้บริการในปี 2564 จึงเลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวโรงแรมระดับลักซัวรี่ใหม่ๆ ประมาณ 3,000 ห้องในปี 2565 หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้
อย่างไรก็ตามก็มีโรงแรมระดับอัพสเกลและมิดสเกลหลายแห่งที่เปิดตัวไปในปี 2564 ได้แก่ โรงแรมโกลว์ สุขุมวิท 71 (108 ห้อง), โอ๊ควูด โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ (142 ห้อง) และโรงแรมไมตรี พระราม 9 (209 ห้อง), โรงแรมชามา เย็นอากาศ กรุงเทพฯ (136 ห้อง) , เดอะ ควอเตอร์ สีลม (160 ห้อง), เดอะ ควอเตอร์ เพลินจิต (160 ห้อง), โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพฯ รัชดา (220 ห้อง), โรงแรมแจล ซิตี้ กรุงเทพฯ (324 ห้อง) และโรงแรมคอร์ทยาร์ด บาย แมริออท สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต (617 ห้อง)
ขณะที่จำนวนรวมของห้องพักโรงแรมระดับลักซัวรี่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 20,555 ห้อง ณ ปี 2563 ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตสุขุมวิทตอนต้น คิดเป็น 39% รองลงมาคือเขตลุมพินี 24% เขตริมแม่น้ำ 17% และเขตสีลม / สาทร 14%
แนวโน้ม
แผนการเปิดประเทศอีกครั้งภายใต้โครงการ ‘Test & Go’ ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็นหกหลักก่อนหยุดโครงการ เนื่องจากปัจจัยด้านความเสี่ยงของสายพันธุ์โอไมครอนในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564
การฟื้นตัวของธุรกิจภาคโรงแรมขึ้นอยู่กับมาตราการข้อจำกัดการเดินทางภายในประเทศและจากแหล่งต้นทางที่คาดเดาไม่ได้ ประชากรทั่วโลกมีอัตราการได้รับวัคซีนอยู่ในระดับสูง แต่ดูเหมือนจะไม่เพียงพอต่อการยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสได้ เราคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 แต่ทุกอย่างกลับแย่ลง เริ่มจากสายพันธุ์เดลต้า และตามมาด้วยสายพันธุ์โอไมครอนที่มีอัตราการแพร่กระจายสูง ในช่วงต้นของปี 2565 หลายประเทศได้ประกาศมาตราการด้านข้อจำกัดการเดินทางอีกครั้งและเลื่อนแผนการเปิดประเทศออกไป ตามที่เราเข้าใจกันคือสายพันธุ์โอไมครอนจะแสดงอาการในระดับเล็กน้อย-ปานกลางเท่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดลง
ภายใต้โครงการ ‘Test & Go’ ในประเทศไทย จำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 2565 มีแนวโน้มจะขยายตัวและแซงหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2564 เริ่มต้นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากนัก เนื่องจากยังคงขาดกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวหลัก รัฐบาลจีนยังคงมีนโยบายปลอดโควิด (zero-Covid policy) ที่ไม่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางนอกประเทศ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวน 5.6 ล้านคน ในช่วงหลังของปี 2565
แม้ว่าการแพร่ระบาดจะยังไม่สามารถควบคุมได้ และอาจมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นตามหลังโอไมครอน แต่เราก็สามารถมองโลกในแง่ดีมากขึ้นได้ในปี 2565 เนื่องจากอัตราการได้รับวัคซีนที่สูงและประสบการณ์ของรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเริ่มต้นของการระบาดในช่วงต้นปี 2563 การผ่อนคลายมาตราการจำกัดการเดินทางและกฎการเดินทางที่สะดวกและง่ายขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวกลับมาและจะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2565