พฤกษา โฮลดิ้ง และ เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จับมือผ่านการสวอปหุ้น 51% ในอินโน พรีคาสท์ เพื่อเข้าถือหุ้น 18.26% ใน GEL มูลค่าประมาณ 582 ลบ. ส่ง GEL ทะยานสู่ผู้ผลิตพรีคาสท์ใหญ่สุดในไทย ดันรายได้โตขึ้นเกือบเท่าตัว ขณะที่พฤกษาลดต้นทุน ขยายฐานลูกค้า และเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง

พฤกษา โฮลดิ้ง และ เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จับมือผ่านการสวอปหุ้น 51%
ในอินโน พรีคาสท์ เพื่อเข้าถือหุ้น 18.26% ใน GEL มูลค่าประมาณ 582 ลบ.
ส่ง GEL ทะยานสู่ผู้ผลิตพรีคาสท์ใหญ่สุดในไทย ดันรายได้โตขึ้นเกือบเท่าตัว
 ขณะที่พฤกษาลดต้นทุน ขยายฐานลูกค้า และเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง
 

พฤกษา โฮลดิ้ง สวอปหุ้นบริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด ในเครือของพฤกษา 51% เพื่อนำไปลงทุนในหุ้น บริษัท
เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL 18.26% ในราคาหุ้นละ 0.37 บาท รวมมูลค่าประมาณ 582 ล้านบาท ดันให้ GEL ก้าวสู่ผู้ผลิตพรีคาสท์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างรายได้เติบโตทันทีเกือบเท่าตัว คาดทำกำไรและลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยจากคำสั่งซื้อจากพฤกษา และ ลูกค้ารายอื่นในอนาคต ในขณะที่ธุรกิจพรีคาสท์ของกลุ่มพฤกษาจะได้ประโยชน์จากการสร้างความชำนาญเฉพาะทาง ลดต้นทุน ขยายฐานลูกค้าใหม่ และสร้างรายได้ต่อเนื่องเพิ่มขึ้น

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSH เปิดเผยว่า หลังจากพฤกษา โฮลดิ้ง ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยแยกหน่วยธุรกิจพรีคาสท์ออกมา จัดตั้ง “บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด” เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายพรีคาสท์ มีโรงงานพรีคาสท์สีเขียว (Green Factory) แห่งแรกของไทย ที่ใช้แนวคิด “ขยะเหลือศูนย์” (Zero Waste) และนำเข้าเทคโนโลยีสีเขียว “คาร์บอนเคียว” (Carbon Cure) เข้ามาใช้เป็นรายแรกในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อผลิตแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast) นั้น ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง มีมติอนุมัตินำหุ้นสามัญของบริษัทอินโน พรีคาสท์ ในสัดส่วน 51% ไปใช้ชำระมูลค่าหุ้น ให้แก่ บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL โดย GEL จะออกหุ้นใหม่และจัดสรรให้แก่พฤกษา โฮลดิ้ง ในราคา 0.37 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วันทำการ ร้อยละ 37 (รวมมูลค่าประมาณ 582 ล้านบาท) โดยคาดว่าจะสามารถทำรายการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2566

สำหรับการสวอปหุ้นในครั้งนี้ นับเป็นข้อตกลงที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองบริษัท (Win-Win) เนื่องจากพฤกษา โฮลดิ้ง เล็งเห็นศักยภาพของ GEL ในฐานะผู้นำด้านการผลิต และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ที่มีชื่อเสียง มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัสดุหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลาย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ผลิตภัณฑ์พรีคาสท์ เสาเข็มเจาะ เสาเข็มดินซีเมนต์ ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานสาธารณูปโภค ฯลฯ ทั้งยังมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พรีคาสท์แก่ลูกค้าภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมาอย่างยาวนาน หลังจากการแลกหุ้นในอินโนพรีคาสท์ซึ่งประกอบธุรกิจพรีคาสท์ส่งมอบให้แก่พฤกษาแล้ว จะทำให้ GEL มีโอกาสในการเติบโตเพิ่มขึ้น ด้วยการขยายอัตรากำลังการผลิตพรีคาสท์ที่สูงขึ้น สามารถลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย (Economy of Scale) จากคำสั่งซื้อจากพฤกษามากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี และ ลูกค้ารายอื่น Backlog อีกกว่า 500 ล้านบาทในอนาคต เพิ่มความสามารถในการสร้างยอดขายได้สูงขึ้นกว่าเดิมจากที่ตั้งเป้าไว้ 1 พันล้านบาท เพิ่มโอกาสการรับรู้รายได้สูงขึ้น ขณะที่พฤกษาเองจะมีต้นทุนการซื้อวัสดุในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลดลง และมีการรับรู้รายได้ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากการลงทุนผ่าน GEL พร้อมกันไปด้วย

ปัจจุบันลูกค้าของ GEL มีการขยายและเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดออร์เดอร์พรีคาสท์ของ GEL มีมากกว่ากำลังการผลิต ดังนั้นหลังจากทำการสวอปหุ้นแล้วเสร็จ เมื่อรวมกำลังการผลิตจากโรงงานพรีคาสท์ของพฤกษาแล้ว จะทำให้ GEL กลายเป็นผู้ผลิตพรีคาสท์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีกำลังการผลิตสูงสุด  เพิ่มขึ้นจาก 0.8 ล้านตร.ม./ปี เป็น  5.2  ล้านตร.ม./ปี พฤกษาจึงมั่นใจว่าการถือหุ้น GEL จะเพิ่มรายได้ต่อเนื่องให้บริษัทฯ  เนื่องจากศักยภาพของ GEL ที่มีประสบการณ์สูงในการดำเนินธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้าง มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ซึ่งจะช่วยขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ และจะทำให้อัตราการใช้ประโยชน์ (Utilization Rate) ของอินโนพรีคาสท์ในปัจจุบันที่ยังเหลืออยู่ได้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

“นอกจากนี้ GEL ยังมีผลิตภัณฑ์คอนกรีตหลากหลายรายการเช่น ผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ชิ้นส่วนคานสำเร็จรูปสำหรับอาคารและงานสาธารณูปโภค ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ก่อสร้าง และยังมีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจผลิต ลวดเหล็กกล้าแรงดึงสูง (PC Wire, PC Strand และ Cold Drawn) และเสาสปัน (spun pile) ซึ่งจะช่วยทำให้อินโนพรีคาสท์เติบโตจากการใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่ รวมถึงประโยชน์จากความร่วมมือทางธุรกิจจะส่งผลให้พฤกษา มีโอกาสในการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง (Recurring Income) เพิ่มขึ้น จากการถือหุ้นร้อยละ 18.26 ใน GEL และ ร้อยละ 49 ในอินโนพรีคาสท์ นอกจากนั้น คาดว่ากำไรสุทธิของ พฤกษา โฮลดิ้ง ในปี 2566 จะเติบโตจากการรับรู้กำไรทางบัญชี (Accounting Gain) ประมาณ 700 ล้านบาท (คำนวณจากราคาหุ้น GEL ที่ราคา 0.37 บาทต่อหุ้น) จากการเข้าทำรายการขึ้นอยู่กับการตรวจสอบรายการและผู้ตรวจสอบบัญชีอีกด้วย” นายอุเทนกล่าวเสริม

นาย ธิติพงศ์ ตั้งพูนผลวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ GEL เปิดเผยว่า GEL มุ่งหน้าและก้าวสู่บริษัทผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชั้นนำ ก้าวสู่ผู้ผลิตพรีคาสท์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นผู้ผลิตพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast) แห่งเดียวในประเทศไทยหลังจากร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับพฤกษาครั้งนี้แล้ว อินโน พรีคาสท์จะกลายเป็นบริษัทย่อยของ GEL  ซึ่งจะทำให้ GEL รับรู้รายได้สูงขึ้นเกือบเท่าตัว จากการรวมงบการเงินกับบริษัท อินโน พรีคาสท์  ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากคำสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างของฐานลูกค้าเดิม รวมถึงจากทางพฤกษา และ ลูกค้ารายอื่นในอนาตต ช่วยลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วย (Economy of Scale) ในระยะยาว รวมถึงบริษัทมีกลยุทธ์ในการสร้างแพลตฟอร์มในการนำเทคโนโลยีที่ดีกว่ามาปรับใช้ ทำให้บริษัทมีต้นทุนที่ดีขึ้นส่งผลให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อลูกค้าของบริษัท นอกจากนั้นเทคโนโลยีสีเขียวจากอินโนพรีคาสท์ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าที่สนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของ GEL จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ศักยภาพการผลิตที่มากขึ้น และการสร้างรายได้ที่มั่นคง  ส่งผลให้ฐานะทางการเงินมีความแข็งแรง ผลประกอบการของ GEL ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และทำให้มีความน่าเชื่อถือต่อสถาบันการเงินและนักลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้การทำรายการจะแล้วเสร็จภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ GEL ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566

“การร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับพฤกษา โฮลดิ้ง และถือหุ้น 49% ในบริษัท อินโน พรีคาสท์ ที่มีโรงงานพรีคาสท์ที่ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแบบระบบอัตโนมัติ  ใช้แนวคิด“ขยะเหลือศูนย์ “ (Zero Waste)  เพื่อส่งมอบแผ่นพรีคาสท์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Precast) นั้น จะเปิดโอกาสให้ GEL ได้รับโอนถ่ายเทคโนโลยี ( Technology Transfer) มีระบบอัตโนมัติ

(Automation) ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของ GEL ในระยะยาวได้สูงถึง 5-7% รวมไปถึงโอกาสในการขยายฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม (ESG/Low Carbon product) ด้วย” นายธิติพงศ์   กล่าว