TCMC ยิ้มรับโกยกำไรไตรมาส 3 เดินหน้าปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ประกาศแต่งตั้ง ซีอีโอ ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพสร้างสมดุลกลุ่มธุรกิจหลัก พร้อมเดินเครื่องขับเคลื่อนธุรกิจในตลาดโลก

TCMC ยิ้มรับโกยกำไรไตรมาส 3 เดินหน้าปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตโควิด-19
ประกาศแต่งตั้ง ซีอีโอ ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพสร้างสมดุลกลุ่มธุรกิจหลัก
พร้อมเดินเครื่องขับเคลื่อนธุรกิจในตลาดโลก

ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TCM Corporation) หรือ TCMCไม่หวั่นวิกฤตโควิด-19 เดินเครื่องปรับสมดุลธุรกิจ เผยออเดอร์กลุ่มเฟอร์นิเจอร์เติบโตต่อเนื่องสวนกระแสโรคระบาดกระทบภาคธุรกิจ ส่งผลให้ไตรมาส 3/63 (กรกฏาคม-กันยายน) ทำกำไรกว่า 107 ล้านบาท
หม่อมหลวงวัลลีวรรณ วรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน หรือ TCMC เปิดเผย ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสสาม ของปี 2563 นี้ว่า กลุ่มบริษัทมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิมูลค่า 107.52 ล้านบาท สูงขึ้น 97.74 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิมูลค่า 9.78 ล้านบาท กลุ่มบริษัทมีผลประกอบการเติบโตก้าวกระโดด 999.49 เปอร์เซ็นต์ โดย กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการในไตรมาสที่สามปี 2563 มูลค่า 1,920.28 ล้านบาท ลดลง 7.91 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2,085.13 ล้านบาท มีEBITDA จำนวน 187.50 ล้านบาท สูงขึ้น 29.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) 25.46 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) 7.60 เปอร์เซ็นต์ และธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) 66.94 % ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัทยังคงทำกำไรได้ในใตรมาสสามของปี แม้ในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะไตรมาสที่สองจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด19

“ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ บริษัทมีรายได้รวม 4,535 ล้านบาท (มกราคม-กันยายน) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลดน้อยลงจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจพรมและวัสดุปูพื้น ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ลูกค้าของเราเป็นกลุ่มธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ (hospitality) เช่น โรงแรม คาสิโน เรือสำราญ และศูนย์ประชุมต่างๆ โดยทางบริษัทได้ปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลง ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร ลดกำลังการผลิต ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้สุดท้ายเราสามารถทำกำไรกลับมาได้เป็นที่น่าพอใจ รวมถึงการฟื้นตัวของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์หลังคลายมาตรการล็อคดาวน์ในประเทศอังกฤษ ทำให้ยอดขายพุ่งขึ้นสูงมากเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการเพื่อสร้างความหลากหลายให้ธุรกิจในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม” หม่อมหลวงวัลลีวรรณกล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่3ของปี 2563 กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้นมีรายได้ 488 .81 ล้านบาท ลดลง 31.99 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดต่อฐานลูกค้าหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรับผลกระทบจากโควิด19 เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจและเศรษฐกิจโดยภาพรวม รวมถึงการระงับค่าใช้จ่ายและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายการขายและการตลาด ทำให้กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้นมีผลกำไรสุทธิ 61.4 ล้านบาท

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีรายได้ 146 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 45.64 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาวะของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ตลาดชะลอตัว และได้รับผลกระทบจากโควิด19 เช่นกัน อย่างไรก็ตามบริษัทพยายามลดต้นทุนและจากสัญญานบวกที่ตลาดรถยนต์เริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้เริ่มมีคำสั่งซื้อที่ทยอยผลิตส่งได้ในไตรมาสสามเพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ยังมีผลกำไร 8.69 ล้านบาท ในไตรมาสสาม

สำหรับกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีรายได้ 1,285.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อคดาวน์ (Lock down) ในประเทศอังกฤษ ที่ผู้คนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ภายหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่งบ้านสูงขึ้น ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเข้ามามากในช่วงดังกล่าวและยังคงมีคำสั่งซื้อมาที่บริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องขยายกำลังการผลิต โดยมีการเข้าซื้อโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มละลายในประเทศอังกฤษเพื่อนำเครื่องจักรมาใช้

นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนารูปแบบ และดีไซน์สินค้าเฟอร์นิเจอร์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ทำให้ลูกค้าชื่นชอบและประทับใจกับคุณภาพและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น สวยงาม สะท้อนรสนิยมแห่งการอยู่อาศัยอย่างมีระดับ ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพการผลิตที่มีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทำให้เมื่อสิ้นไตรมาส 3 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สามารถทำผลกำไรได้ 37.42 ล้านบาท

“เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน เราเชื่อว่าในปีหน้าหลังจากมีข่าวดีของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการอื่นๆ รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจโลก จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับคำสั่งซื้อที่จะเข้ามา และเตรียมจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่และเข้มแข็งกว่าเดิม จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งไม้ต่อให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ คือนางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) และเป็นกรรมการของบริษัทต่างๆในเครือ ยู ซิตี้ จากประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่ได้พิสูจน์ให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา ทางบริษัทก็มีความมั่นใจว่านางสาวปิยพร จะสามารถนำพาบริษัทให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลได้” หม่อมหลวงวัลลีวรรณ กล่าวในที่สุด

อนึ่ง นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ อายุ 53 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทสาขา MBA จาก University of New Hampshire ประเทศสหรัฐอเมริกา และสาขา MSc ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีประสบการณ์ทำงานเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เคยเป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีซีซี แลนด์ กรุ๊ป และกรรมการโซเนวา รีสอร์ท (เดิม ซิกซ์เซ้นส์ รีสอร์ท แอนด์ สปา)