ครั้งแรกของไทย “จุฬาฯ” ผนึก “SkillLane” ปั้นแพลตฟอร์ม GenEd UC Cloud Learning ให้นิสิตนักศึกษาเรียนวิชาการศึกษาทั่วไปข้ามมหาวิทยาลัยได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยภายใต้เครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาทั่วไป ภาคกลางตอนบน (Upper Central: UC) และ SkillLane บริษัท Online Learning Platform อันดับหนึ่งของไทย พัฒนาระบบเรียนออนไลน์ GenEd UC Cloud Learning ให้นิสิตนักศึกษา ทุกคณะในเครือข่ายฯ เรียนรายวิชาการศึกษาทั่วไปหรือ General Education ข้ามสถาบันได้เป็นครั้งแรกของไทย มุ่งยกระดับคุณภาพบัณฑิตและสังคมไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอนาคต
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมผลิตเนื้อหาวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามเป้าหมายของ General Education ผ่านระบบดังกล่าวแล้ว 4 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยมีวิชาที่พร้อมให้ลงทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 40 วิชา เช่น วิชา Fun with AI วิชา Critical Thinking for Business วิชา Digital Disruption และ วิชา Value Proposition และอยู่ระหว่างการขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของออนไลน์คอนเท้นต์ให้แก่มหาวิทยาลัยในเครือข่ายฯ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ จุฬาฯ มีความตั้งใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาในอนาคต โดยในระยะที่ 2 นิสิตนักศึกษาจะสามารถใช้ระบบ GenEd UC Cloud Learning ในการเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิตข้ามสถาบันได้ และในระยะที่ 3 มหาวิทยาลัยในเครือข่ายจะเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเรียนผ่านทางออนไลน์เพื่อเก็บหน่วยกิตในคลังหน่วยกิต (Credit Bank) ซึ่งจะสามารถโอนถ่ายหน่วยกิตเมื่อผู้เรียนได้เข้ามาเป็นนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยในเครือข่ายนั้น ๆ แล้ว
รศ.ดร. แนบบุญ หุนเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดี ด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการศึกษาเพื่อทุกคน โดยมุ่งหวังจะให้ระบบ GenEd UC Cloud Learning ที่พัฒนาร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนอย่าง SkillLane เป็นคลังสมองออนไลน์ของนิสิตนักศึกษาทุกคนให้สามารถเลือกเรียนรายวิชาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในเครือข่ายฯ ได้หลากหลายตามความสนใจ ผมเชื่อว่าระบบนี้จะเป็นต้นแบบการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาให้กับเครือข่ายอื่นได้ต่อไป”
ด้าน รศ.น.สพ.ดร.ณุวีร์ ประภัสระกูล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการศึกษาครั้งใหญ่ โดยคาดว่าในอนาคต ความร่วมมือนี้จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือของส่วนในหลายมหาวิทยาลัย
โดยระยะที่ 2 นิสิตนักศึกษาสามารถใช้รวมกับเนื้อหารายวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บเป็นหน่วยกิตของวิชาศึกษาทั่วไปตามข้อบังคับของหลักสูตร โดยจะสามารถเก็บหน่วยกิตจากวิชาที่สอนโดยอาจารย์จากต่างสถาบันได้
ระยะที่ 3 บุคคลทั่วไปสามารถเรียนหลักสูตรเพื่อเทียบเป็นหน่วยกิตย่อย (Micro-credit) ผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวในรูปแบบคลังหน่วยกิต (Credit Bank) และจะสามารถโอนถ่ายหน่วยกิตเมื่อผู้เรียนได้เข้ามาเป็นนิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยในเครือข่ายนั้น ๆ แล้ว ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมสามารถลองศึกษาวิชาที่ตนเองสนใจและเก็บหน่วยกิตไว้ล่วงหน้า และสามารถโอนถ่ายหน่วยกิตได้ทันทีที่เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาที่จะ สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัดเพื่อทุกคน
นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane กล่าวเสริมว่า “โครงการนี้จะช่วยทำให้นิสิต นักศึกษาก้าวข้ามขีดจำกัดการเรียนรู้เพราะเป็นการรวมความรู้ ความสามารถของหลายๆ มหาวิทยาลัยมาไว้ด้วยกัน และเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาเรียนรู้จากอาจารย์ที่่มีความสามารถและมุมมองที่หลากหลายจากต่างมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้นในฐานะที่ SkillLane มีความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการระบบเรียนออนไลน์ เราพร้อมสนับสนุนความร่วมมือในครั้งนี้อย่างเต็มที่ มุ่งพัฒนาระบบเรียนออนไลน์ให้ใช้งานง่าย ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเรียนรูปแบบอื่นให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน”