ซีไอเอส มองแนวโน้มราคาทองคำไปต่อ
ทยอยสะสมที่แนวรับสำคัญ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนรุ่นใหม่ มองเป็นโอกาสทยอยสะสมทองคำ หลังราคาร่วงลงเพราะแรงเทขาย จากที่ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดใหม่ระดับ 2,080 ดอลลาร์สหรัฐ แนะระยะสั้นและกลาง เข้าซื้อลงทุนที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ ชี้ปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคยังคงเป็นขาขึ้น ส่วนแร่เงิน ราคาวิ่งขึ้นมาพร้อมๆ กัน แต่ปัจจัยพื้นฐานด้อยกว่าทองคำ จากความต้องการใช้แร่เงินที่เริ่มลดลง และความผันผวนราคา ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูง
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ทองคำยังสร้างผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี (YTD) ได้ที่ 25% ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เป็นรองเพียงแค่แร่เงิน (Silver) ที่ทำได้ 48% แม้ผลตอบแทนของทองคำ จะลดลงอย่างมากจากจุดสูงสุดที่เคยทำได้ถึง 38% เพราะแรงเทขายทำกำไรหลังดัชนี Dollar Index มีการพลิกกลับมาแข็งค่าหลังจากที่ลงไปอ่อนค่าที่สุดที่ 92 จุด ตลอดจนความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีออกมาเป็นปัจจัยลบระยะสั้นต่อราคาทองคำ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นหลังจากการอัดฉีดเงินในมาตรการคิวอี ตามนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ที่ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อขึ้นเหนือระดับ 2% ตลอดจนมุมมองที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำไปอีกนาน หรือความเสี่ยงที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่อาจถูกเทขายจากความกังวลในเรื่องที่ราคาปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงเกินไป ทั้งหมดนี้จึงยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ผลักดันราคาทองคำต่อไปได้
“ปัจจัยทางเทคนิคของทองคำ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง กราฟเทคนิคตั้งแต่ขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 2,080 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองก็เป็นขาลงมาตลอดและไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาพในระยะยาวและระยะกลางทองคำยังคงเป็นขาขึ้น ส่วนระยะสั้นแนวรับสำคัญจะอยู่ที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถซื้อเพื่อเก็งกำไรเพื่อคาดหวังผลตอบแทนในระดับ 7% หากนับจากจุดสูงสุดเดิม แต่ต้องตัดขาดทุนอย่างรวดเร็วหากราคาลงไปจากระดับนี้”
ด้านแร่เงิน ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนดีอันดับต้นๆ ในปีนี้ แม้ว่าจะมีค่าความสัมพันธ์ (Correlation) กับทองคำอยู่ในระดับที่สูง หากทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น แร่เงินก็จะวิ่งขึ้นตาม แต่ปัจจัยพื้นฐานของแร่เงินยังไม่สามารถเทียบกับทองคำได้ เนื่องจากการผลิตของแร่เงินยังสามารถผลิตออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ต่างจากทองคำที่มีจำกัด ขณะที่ความต้องการส่วนใหญ่ของแร่เงิน คือการนำไปใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์ ปรับลดลงค่อยข้างแน่ชัด เพราะโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้ว
“แม้กราฟเทคนิคของแร่เงินจะยังคงเป็นขาขึ้นแต่ปัจจัยพื้นฐานยังไม่สามารถเทียบเคียงกับทองคำได้ การลงทุนจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่า อีกอย่างคือธรรมชาติของแร่เงินมีความผันผวนของราคามากกว่าทองคำ”
ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อย่างราคาน้ำมัน WTI และ Brent ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปียังคงติดลบกว่า 38% ภาพการลงทุนในระยะสั้นมีแนวโน้มขาลง ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังไม่ใช่โอกาสที่จะเข้ามาลงทุน
นายณพวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือการประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่สามของปีนี้ของบริษัทจดทะเบียนทั้งของไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นสามเดือนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เต็มๆ ต่อเนื่องจากไตรมาสที่สอง หากผลประกอบการมีการฟื้นตัวขึ้นจะเป็นชี้วัดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ สามารถใช้ได้ผล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทองคำที่อาจได้รับความสนใจลดลงบ้าง แต่หากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังไม่ดีขึ้น ทองคำจะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง อย่างไรก็ตามดัชนีชี้วัดสำคัญของราคาทองคำ คือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหาก Dollar Index หากกลับมาฟื้นตัวก็จะเป็นการกดดันราคาทองคำได้