ผลการทดลองเผย พฤติกรรมแยกขยะสร้างได้ หาก “ไม่ยุ่ง” และ “ไม่ยาก”
โคคา-โคล่า จับมือ แสนสิริ และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลการทดลองสร้างพฤติกรรมผู้พักอาศัยเพื่อส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง
นายนันทิวัต ธรรมหทัย (ตำแหน่งนั่ง ขวาสุด) ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด, นางจริยา จันทร์เจิดศักดิ์ (กลาง) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ (ซ้ายสุด) ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเผยผลการทดลองการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะในกลุ่มผู้อยู่อาศัยใน T77 Community
กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เผยผลการทดลองในการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะของคนไทย ที่ได้ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายผู้อยู่อาศัยใน T77 Community พบ 2 เงื่อนไขสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยแยกขยะได้สำเร็จคือ การขจัดความ ‘ยุ่ง’ (ขี้เกียจแยก) และความ ‘ยาก’ (ต้องคิดเยอะไป) พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขด้วยการออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับกระบวนการคิดของคน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการลดปริมาณขยะและนำวัสดุที่รีไซเคิลได้ เช่น บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม กลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จุดเริ่มต้นของการทดลองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมการแยกขยะนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ World Without Waste ของโคคา-โคล่าที่มีเป้าหมายในการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อน พ.ศ.2573 จึงเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการแยกขยะที่ต้นทาง เนื่องด้วยการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคในประเทศไทย[1] พบว่า บรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติกใส (PET) และกระป๋องอลูมิเนียมมีเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพราะไม่มีการแยกขยะอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง โคคา-โคล่าจึงได้ร่วมมือกับแสนสิริ และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทฤษฏีและการทดลองทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้เพื่อหาต้นตอของปัญหา วิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไขอย่างตรงจุด
นายนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสาร และความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โคคา-โคล่า เชื่อว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาการไม่แยกขยะเป็นปัญหาพฤติกรรมของคน หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนแยกขยะตั้งแต่ต้นทางได้ ปริมาณขยะในภาพรวมก็จะลดลง วัสดุที่รีไซเคิลได้ก็จะถูกนำกลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ฉะนั้น เราจึงริเริ่มนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่กำลังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าสามารถมีส่วนช่วยปรับพฤติกรรมของคนเพื่อแก้ปัญหาสังคมและส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในบริบทแบบไทยๆ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแสนสิริ มาร่วมกันดำเนินการทดลองเพื่อศึกษาและสร้างพฤติกรรมการแยกขยะในครัวเรือน โดยใช้เทคนิคการ “สะกิด” (Nudge) ซึ่งมีที่มาจากหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในชื่อเดียวกัน ของ Richard H. Thaler และ Cass R. Sunstein เทคนิคนี้ตั้งอยู่บนการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ที่หลายครั้งก็เป็นเรื่องของนิสัยและความเคยชินมากกว่าความคิดเชิงเหตุผล และนำความเข้าใจนั้นมาสร้างมาตรการจูงใจแบบง่ายๆ แต่มีประสิทธิผลในการสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ ซึ่งในกรณีนี้คือการสร้างพฤติกรรมการแยกขยะที่ต้นทาง”
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ปัจจัยที่ทำให้การรณรงค์เพื่อการแยกขยะที่ต้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ ความ “ยุ่ง” คือคนไม่ต้องการทำอะไรที่สร้างความลำบากให้ตัวเอง และความ “ยาก” จากความซับซ้อนและเข้าใจยากของถังขยะที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงส่งผลให้คนไม่แยกขยะ ดังนั้น หากต้องการส่งเสริมการแยกขยะอย่างจริงจังก็จำเป็นต้องกำจัดมูลเหตุทางพฤติกรรมทั้งสองข้อนี้ โดยศูนย์ฯ ได้นำแนวคิดการ“สะกิด” ตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ในการทดลองกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนัก และพฤติกรรมการแยกขยะ อันจะนำไปสู่การสร้างนิสัยการคัดแยกขยะในระยะยาว นอกจากนี้ ยังพบว่า การแก้ปัญหา ‘ยุ่ง’ หรือความขี้เกียจในการแยกขยะนั้นสำคัญกว่าการแก้ปัญหา ‘ยาก’ หรือความไม่เข้าใจ เราจึงควรกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการแยกขยะมากขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนความขี้เกียจให้มาเป็นนิสัย โดยอาศัยกลไกทางสังคม ทำให้เห็นว่าทุกคนร่วมมือร่วมใจกันแยกขยะโดยเฉพาะคนในชุมชนเดียวกัน อันจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”
นางจริยา จันทร์เจิดศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) “ด้วยวิสัยทัศน์ของแสนสิริที่ไม่เพียงแต่การพัฒนาที่อยู่อาศัย แต่ยังมุ่งมั่นส่งมอบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราเดินหน้าอย่างจริงจังในการผลักดันและเซตมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยในด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน Sansiri Green Mission โดยมี Waste Management เป็น 1 ใน 4 คำมั่นสัญญาหลัก เพื่อจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะให้เหลือไปกำจัดในปริมาณน้อยที่สุด ตั้งแต่ภายในองค์กร โครงการที่อยู่อาศัย ไปถึงไซต์ก่อสร้าง ความร่วมมือกับโคคา-โคล่า และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์ต้นแบบการแยกขยะอย่างยั่งยืนของวงการอสังหาฯ ตลอดจนอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง โดยเราจะนำผลการศึกษาในครั้งนี้ไปต่อยอดร่วมกับผลการศึกษาของแสนสิริ เพื่อออกแบบถังขยะใหม่ในทุกโครงการคอนโดมิเนียม ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปีตั้งแต่ 2563 เป็นต้นไป”
การทดลองทฤษฎีการสะกิดครั้งนี้ดำเนินการครอบคลุมคอนโดมิเนียม 3 โครงการที่ T77 Community ได้แก่ THE BASE Park West, hasu HAUS และ mori HAUS รวม 246 ห้องชุด เป็นระยะเวลา 4 เดือน (พฤษภาคม-สิงหาคม 2562) สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแยกขยะที่ได้จากผลการทดลองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมนี้ ประกอบไปด้วย การจัดหาถังขยะให้สอดคล้องกับประเภทขยะ การออกแบบถังขยะให้สอดคล้องกับระบบความคิดของคน รวมถึงการสื่อสารโดยใช้รูปภาพอธิบายที่ไม่ซับซ้อน และมีข้อความสั้นๆ กำกับ ร่วมกับการ แจกโบรชัวร์ให้ความรู้ในการแยกขยะด้วยการสอดไว้ตามห้อง หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ขยะ” โดยอาจใช้คำว่า เศษอาหาร หรือ รีไซเคิลแทน เป็นต้น
“เราต้องขอขอบคุณทางแสนสิริ ในฐานะเจ้าของสถานที่ T77 Community และศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วางแผนทำงานและเก็บข้อมูลร่วมกันมาโดยตลอด การทดลองนี้แม้จะเป็นเพียงการทดลองเล็กๆ เมื่อเทียบกับบริบทของประเทศไทย แต่ก็ช่วยแสดงให้เห็นว่ายังมีคนอีกไม่น้อยที่อยากและพร้อมจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาด้วยการแยกขยะที่ต้นทาง ถ้าเราวางระบบให้ยุ่งและยากน้อยลง เราหวังว่าผลการทดลองนี้จะทำให้ทุกคนเห็นว่าเราสามารถสร้างพฤติกรรมการแยกขยะได้ โดยไม่ต้องรอให้เป็นหน้าที่ของเด็กรุ่นใหม่ และช่วยสะกิดให้คนไทยหันมาแยกขยะก่อนทิ้งกันให้มากขึ้น” นายนันทิวัต กล่าวปิดท้าย
[1] รายงานเกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่า หรือแวลูเชนของขวดพลาสติก PET และกระป๋องอะลูมิเนียม ในประเทศไทย โดย GA Circular (A report on Material Flow and Value Chain Analysis for PET Bottles and Aluminium Cans in Thailand by GA Circular)