เปิดตัว “สมาคมไทยบิม” อย่างเป็นทางการ พร้อมเป็นคนกลางวางมาตรฐาน งานก่อสร้างไทยสู่ระดับสากล

เปิดตัว “สมาคมไทยบิม” อย่างเป็นทางการ
พร้อมเป็นคนกลางวางมาตรฐานงานก่อสร้างไทยสู่ระดับสากล

สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association; TBIM) เปิดตัวอย่างเป็นทางการ มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยสู่ระดับสากล ผลักดันเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านงานวิศวกรรมการออกแบบมาใช้ พร้อมศึกษาแนวทางและมาตรฐานการทำงานบนระบบ BIM เทคโนโลยีในการนำซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการออกแบบ (Smart Design Software) ซึ่งรวบรวมข้อมูลการออกแบบก่อสร้างทั้งหมดมาอยู่ในรูปแบบภาพจำลอง 3 มิติ (3D Digital Model) เพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในทุกกระบวนการมากยิ่งขึ้น ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยในระบบเศรษฐกิจ THAILAND 4.0  ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (TBIM) กล่าวว่า ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจก่อสร้างมากยิ่งขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและงานออกแบบของไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพด้านงานออกแบบรองรับเศรษฐกิจยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นการปฏิรูปหรือปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยโฉมใหม่ทั้งระบบ เพื่อสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ทุกรูปแบบและองค์กรเติบโตก้าวทันกระแสการพัฒนาของโลก เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติในปัจจุบันนี้กำลังเปลี่ยนโฉมงานออกแบบใหม่ไปสู่ระบบ 3 มิติ ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “BIM” (Building Information Modeling)  ซึ่งในขณะนี้กระบวนการ BIM ในประเทศไทย ยังไม่มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรกลาง คือ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association; TBIM) เพื่อช่วยสร้างกรอบการทำงาน และมาตรฐานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ซึ่งระบบ BIM จะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงใน Computer ทำให้ผู้ทำงานเกี่ยวข้องสามารถเห็นส่วนประกอบทุกส่วนตรงกัน โดย BIM จะสร้างเป็นโมเดล 3 มิติขึ้นมาพร้อมกับ Intelligent Information อาทิ รายละเอียดวัสดุ เพื่อคำนวนปริมาณวัสดุก่อสร้าง ปรับปรุงกระบวนการออกแบบก่อสร้างและคำนวนพลังงานที่จะใช้ในอาคาร สร้างแบบจำลอง หรือ Digital Prototype Model ที่เสมือนจริง และเปลี่ยนจากการสร้างแบบบนกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัลและประสานข้อมูลบน Cloud สะดวกในการทำงานนอกสถานที่โดยสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Tablet ได้อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การส่งมอบอาคารที่มีคุณภาพสูงขึ้นจากมาตรฐานของตลาดในปัจจุบัน

ปัจจุบันมีผู้พัฒนาโครงการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้นำเทคโนโลยีระบบ BIM เข้ามาใช้ในงานก่อสร้างแล้ว อาทิ สถานีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และโครงการ แอชตัน อโศก ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ส่วนในภูมิภาคอาเซียนมีประเทศสิงคโปร์เป็นผู้นำในการใช้ BIM ในการพัฒนาโครงการก่อสร้าง

“การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสร้างแบบ (โมเดล) พิมพ์เขียวโครงการก่อสร้าง 3 มิติ หรือ BIM จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโครงการก่อสร้างหรืออาคารประเภทต่างๆ มากขึ้น และเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ทันทีที่เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย”  ศ.ดร.อมร กล่าว

สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ TBIM ประกอบด้วย คณะกรรมการที่มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพและหลากหลายองค์กร เช่น สถาปนิกและวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่มีความสนใจ BIM มาใช้ในการทำงานให้สอดคล้องไปในทางเดียวกันภายใต้มาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ ที่ใช้สำหรับการทำงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน   ทั้งนี้  จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่างมาตรฐานการทำงานด้วยระบบ BIM คาดว่าจะสามารถใช้งานมาตรฐานภายในปี 2563  นอกจากนี้ ยังเล็งเห็นถึงการพัฒนาในส่วนของความสามารถในการทำงานของผู้ที่ทำงานด้วยระบบ BIM จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการอบรม-สัมมนา เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ BIM ให้สมาชิกและบุคคลภายนอก คาดว่าจะสามารถเริ่มการอบรม-สัมมนาได้ภายในต้นปี 2563  สามารถติดตามและติดต่อสอบถามรายละเอียดข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.tbim.or.thและwww.facebook.com/ThaiBIMAssociation