สนข. เปิดเวที Market Sounding ต้นแบบ TOD พระนครศรีอยุธยา หนุนเมืองมรดกโลก
สนข.เผยผลการศึกษาเบื้องต้น TOD พระนครศรีอยุธยา เปิดพื้นที่ 206 ไร่ รอบสถานีรถไฟพัฒนา
4 โซน ยกระดับศักยภาพพื้นที่เมือง มุ่งสนับสนุนธุรกิจการค้า การลงทุน แหล่งเรียนรู้ พลิกโฉมเศรษฐกิจเมืองพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมงานกว่า 200 คน
นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ในพื้นที่เมืองต้นแบบ พระนครศรีอยุธยา ครั้งที่1 ตามโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “TOD คมนาคม สร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมงานกว่า 200 คน
นายเริงศักดิ์ กล่าวว่า พระนครศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพหลายด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ปี 2560 สูงถึง 403,000 ล้านบาท เป็นอันดับ 5 ของประเทศ ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 465,972 บาทต่อคนต่อปี โครงสร้างประชากรมีคุณภาพซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยข้อมูลปี 2561 พบว่ามีสูงถึง 800,000 คน และมีอัตราการเติบโต 0.6 % ต่อปีตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการที่ยูเนสโกเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกโลกในปี 2534 บนพื้นที่ 1,800 ไร่ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมซึ่งในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวสูงถึง 7,600,000 คน อัตราการเติบโต 5.2 % ต่อปีตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ตั้งพื้นที่เขตอุตสาหกรรม 5 แห่ง และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางบก ทางราง และทางน้ำ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างรถไฟฟ้าสายเหนือและสายอีสาน
ทั้งนี้ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเบื้องต้นบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟอยุธยาของสนข. แบ่งออกเป็น 4 โซน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 206 ไร่ มุ่งเน้นสนับสนุนธุรกิจการค้า การลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาที่เน้นรักษาทัศนียภาพที่งดงามของเมือง
การพัฒนาโซนที่ 1 ย่านธุรกิจและพาณิชยกรรมแบบผสมผสาน (Mixed-Use Complex) ด้วยตำแหน่งที่ตั้งใกล้กับสถานีรถไฟ จึงเหมาะสมกับการพัฒนาต่อยอดเป็นย่านพาณิชยกรรมแห่งใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่ธุรกิจการค้า และแหล่งการสร้างงาน ส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อเนื่อง ตลอดทั้งวันเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุน สร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค จากปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีศูนย์การค้าปลีกระดับภูมิภาคเพียงแห่งเดียวซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่เมือง
โซนที่ 2 ย่านชุมชนการค้าแบบผสมผสาน (Mixed-Use Community) แนวคิดการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ผสมผสานกิจกรรมเชิงพาณิชย์และพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลายเน้นการเข้าถึงพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชนหลักและระบบขนส่งมวลรองที่มีศักยภาพและครอบคลุม การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport) เช่น การเดิน การใช้จักรยาน
โซนที่ 3 ย่านชุมชนที่อยู่อาศัยคุณภาพ (Residential Cluster + Potential Education Campus) เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงการสร้างสรรค์พื้นที่เล่นและเรียนรู้ เป็นแหล่งให้ผู้คนได้พบปะ และทำกิจกรรมร่วมกันบนพื้นที่แหล่งใหม่ของเมือง และโซนที่ 4 ย่านที่อยู่อาศัยและรองรับการขยายตัวของเมือง (Extended Township Development) เน้นพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงการสร้างสรรค์พื้นที่เล่นเรียนรู้
ผลการศึกษายังพบว่าการพัฒนา TOD พื้นที่ดังกล่าวมีที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม และอพาร์ทเมนท์ไม่เกิน 8 ชั้น ในปริมาณอุปทานต่ำอยู่ สวนทางกลับอุปสงค์ทั้งในด้านการลงทุน และความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้นเพิ่มขึ้นอีกหากมีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เนื่องจากมีความต้องการที่อยู่อาศัยจากแรงงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อหลีกหนีความแออัด และต้องการพื้นที่สงบ ทั้งยังพบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถพัฒนาเป็นโรงแรมรองรับการประชุมระดับนานาชาติ และอุตสาหกรรมไมซ์ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงมากได้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ในระยะที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งยังไม่มีผู้พัฒนามากจึงมีระดับการแข่งขันต่ำ
นายเริงศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ TOD พระนครศรีอยุธยา คือ ภาครัฐต้องกำหนดกรอบนโยบายการลงทุน รูปแบบการสนับสนุน และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้มีความชัดเจน การมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบ มีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคส่วนมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงการ และมีรูปแบบการลงทุนที่มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับลักษณะการพัฒนา TOD ในพื้นที่ และที่สำคัญคือต้องอาศัย การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้สนข.จะเปิดเวทีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนในลักษณะเดียวกันนี้ ในเมืองต้นแบบ 3 จังหวัด โดยจังหวัดขอนแก่นกำหนดจัดงานวันที่ 29 ตุลาคม 2562 และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtod.com