วิภาวดีรังสิต ศูนย์กลางการคมนาคมทุกระบบ
เชื่อมเมือง…เชื่อมการใช้ชีวิตครบถ้วน
ถนนวิภาวดีรังสิต หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 สายดินแดง-บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ) โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณสามแยกดินแดง (จุดบรรจบ ถ.ดินแดง เชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานคร) แล้วตัดผ่านสี่แยกสุทธิสาร ห้าแยกลาดพร้าว สี่แยกบางเขน สี่แยกหลักสี่ ไปสิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถาน จุดบรรจบ ถ.พหลโยธิน ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ถนนสายดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางหลวงพิเศษหรือ superhighway แบ่งช่องทางการเดินรถเป็นทางด่วนหรือทางหลัก (main road) และทางคู่ขนาน (frontage road) ยกเว้นช่วงที่ผ่านหน้าท่าอากาศยานดอนเมืองจะไม่แบ่งเป็นช่องทางด่วนและทางคู่ขนาน เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดเพราะถูกขนาบด้วยสนามบินและทางรถไฟ
จากแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่เขตพญาไท-จตุจักร-หลักสี่-ดอนเมือง ของกรุงเทพฯ และ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ตัดผ่านถนนสายหลักทั้งดินแดง สุทธิสาร งามวงศ์วาน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) แจ้งวัฒนะ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304) และ ถ.พหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับทางด่วนเฉลิมมหานคร และเส้นทางรถไฟสายเหนือ-สายตะวันออกเฉียงเหนือที่คู่ขนานไปกับถนนด้วย โดยมีสถานีให้บริการทั้งสถานีบางซื่อ, สถานีบางเขน และสถานีดอนเมือง ตลอดจนทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมือง-โทลล์เวย์ เป็นทางด่วนพิเศษยกระดับเก็บค่าผ่านทาง อยู่เหนือ ถ.วิภาวดีรังสิตอีกด้วย
ขณะเดียวกันตลอดสองฟากฝั่งของถนนสายนี้ ยังเต็มไปด้วยสถานที่ราชการ, ศูนย์การค้าขนาดใหญ่, สถานพยาบาล, สถานศึกษาชั้นนำ และอาคารสำนักงานของบริษัทต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ห้างเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว, ไอทีสแควร์ หลักสี่, รพ.ทหารผ่านศึก, รพ.วิภาวดีรังสิต, รพ.จุฬาภรณ์, โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี, โรงเรียนหอวัง, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนาถ, มหาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสนามบินดอนเมือง
ที่สำคัญใกล้กับตลาดนัดจตุจักร แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นอย่างดี มีสินค้าทั้งต้นไม้ประเภทไม้ดอก-ไม้ประดับ, ของตกแต่งบ้านและสวน, เสื้อผ้า-ของใช้, สินค้าโอท็อป-งานฝีมือ หรือโซนสัตว์เลี้ยง ตลอดจนยังมีสวนสาธารณะใจกลางเมืองอย่างสวนจตุจักร, สวนรถไฟ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่สามารถมาออกกำลังกายและพักผ่อนได้ในทุกๆ วันเลยทีเดียว
เปิดเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน-ส่วนต่อรถไฟฟ้าใหม่
ย่านวิภาวดีรังสิตในปัจจุบัน กำลังจะมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญ อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของศักยภาพพื้นที่อย่างมากถึง 2 โครงการ คือแผนพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน หรือสถานีกลางบางซื่อ ให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่ ที่เป็นทั้งศูนย์กลางการขนส่งหลายรูปแบบและศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อไปยังทุกภาคของประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงไปยังลาว จีน มาเลเซีย ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 2,300 ไร่ ซึ่งมีเป้าหมายจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Transportation Hub) โดยใช้สถานีรถไฟบางซื่อให้เป็นสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่แทนสถานีรถไฟหัวลำโพง และเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทุกระบบทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน,รถไฟฟ้า BTS, รถไฟทางไกล, รถไฟชานเมือง, รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานดอนเมือง และรถไฟความเร็วสูง
สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ตั้งอยู่บริเวณชุมทางบางซื่อ (ถนนเทิดดำริในปัจจุบัน) และเป็นสถานีต้นทางของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต รวมทั้งช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยตัวสถานีมีพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร แบ่งการใช้งานเพื่อรองรับการเดินรถไฟประเภทต่างๆ ได้แก่ รถไฟทางไกล, รถไฟชานเมือง, รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน และรถไฟขนาดทางมาตรฐานในอนาคต โดยแบ่งออกเป็นดังนี้
– ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถ ประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋ว และ มีทางเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของโครงการสายสีน้ำเงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
– ชั้นที่ 1 พื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสารให้บริการ รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า
– ชั้นที่ 2 ชานชาลารองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา โดยแบ่งเป็น
แนวสายเหนือรวมกับสายอีสาน 4 ชานชาลา สายใต้และสายตะวันออกรวม 4 ชานชาลา
– ชั้นที่ 3 ชานชาลารองรับการจอดขบวนรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค 10 ชานชาลา โดยแบ่งเป็น
สายใต้ 4 ชานชาลา สายเหนือและสายอีสานรวม 6 ชานชาลา และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน 2 ชานชาลา
ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 60% แล้ว คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ภายในปี 2563
ขณะเดียวกันพื้นที่บริเวณโดยรอบศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทั้งหมด ภาครัฐยังมีแผนจะพัฒนาให้เป็นต้นแบบของ TOD (Transit Oriented Development) ของประเทศไทย โดยใช้สถานีขนส่งสาธารณะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระดับอาเซียน และศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของมหานคร เพื่อรองรับด้านพาณิชยกรรม และที่พักอาศัยที่มีความหนาแน่นสูง โดยเบื้องต้นแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 8 โซน โดยนำพื้นที่โซน A เนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ ที่อยู่ห่างสถานีกลางบางซื่อ 50-100 เมตร ออกมาออกมาเปิดประมูล ในรูปแบบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน พ.ศ.2556 เพื่อจัดทำร่างข้อตกลงเบื้องต้น (ทีโออาร์)
ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าไปมาก มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2563 โดยรถไฟฟ้าสายนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง รวมทั้งรถไฟฟ้า MRT ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการแล้วจะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมโยงเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองโดยไม่ต้องเปลี่ยนสาย นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์(เชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานดอนเมือง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยมีแนวเส้นทางตามเขตการรถไฟเดิม
รถไฟฟ้ามา ราคาที่ดินพุ่งคอนโดปักหมุด…รองรับศักยภาพพื้นที่
ในอดีตย่านนี้ถือเป็นแหล่งพักอาศัย แต่เมื่อมีรถไฟฟ้า BTS เข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2542 ก็ได้มีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า เช่น อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารทหารไทย,อาคารสำนักงานซันทาวเวอร์, อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท., อาคารเอ็นเนอยี่ คอมเพล็กซ์, ยูเนี่ยนมอลล์ หรือแม้กระทั่งห้างเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ก็ยังมีการรีโนเวทปรับปรุงโฉมใหม่ ตลอดจนร้านค้า, อาคารพาณิชย์ต่างๆ มากขึ้น
แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ราคาที่ดินโดยรอบขยับตัวตาม ปัจจุบันราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ รอบปี 2559-2562 ถ.วิภาวดีรังสิต (ในเขตห้วยขวาง), พญาไท, ดินแดง อยู่ที่ 220,000 บาทต่อตารางวา, ถ.วิภาวดีรังสิต (ในเขตจตุจักร) อยู่ที่ 150,000-260,000 บาทต่อตารางวา และ ถ.วิภาวดีรังสิต ในเขตพื้นที่ดอนเมือง อยู่ที่ 120,000 บาทต่อตารางวา แต่ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดินติดถนนในทำเลพหลโยธิน-ลาดพร้าว-วิภาวดีรังสิต ได้พุ่งไปมากกว่านั้นหลายเท่า และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อโครงการเมกะโปรเจ็กต์ดังกล่าวแล้วเสร็จ
เช่นเดียวกับแนวโน้มการพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูง ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม High Rise และ Low Rise ที่เกิดขึ้นรองรับศักยภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่บริเวณแนว ถ.พหลโยธิน ช่วงหมอชิตเดิม, บริเวณห้าแยกลาดพร้าว และ ถ.วิภาวดีรังสิต เองก็ตาม ถึงแม้จะไม่มีรถไฟฟ้าพาดผ่านพื้นที่โดยตรง หากแต่มีสถานีรถไฟฟ้าถึง 2 สายที่จะสามารถไปใช้บริการได้อย่างสะดวก ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน (ที่สถานีพหลโยธิน และสถานีจตุจักร) และรถไฟฟ้า BTS สถานีหมอชิต จึงทำให้การเดินทางเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งเข้า-ออกเมือง มีความสะดวกและรวดเร็วขึ้น
ดังนั้น ศักยภาพของพื้นที่ย่านวิภาวดีรังสิต คาดว่าจะมีศักยภาพสูงขึ้น เนื่องมาจากโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธินจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางขนาดใหญ่ ทั้งรถไฟธรรมดา, รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ที่ดินส่วนใหญ่เป็นของการรถไฟฯ จึงเปิดโอกาสให้ที่ดินของเอกชนในย่านวิภาวดีรังสิต สามารถพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม, เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ หรืออาคารสำนักงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่ และกลายเป็นทำเลที่น่าจับตามองอีกแห่งหนึ่งในอนาคต
ส่วนอีกโครงการที่มีบทบาทสำคัญ นั่นคือ โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งโครงสร้างอยู่บนแนว ถ.พหลโยธิน และจุดตัด ถ.วิภาวดีรังสิต ตรงบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ที่สถานีหมอชิต ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงแยกหลักสี่ และเบี่ยงออกด้านขวาเลียบตามขอบอุโมงค์แยกหลักสี่ จากนั้นเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลาง จนถึงบริเวณสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของ ถ.พหลโยธิน แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก (ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ) ข้ามคลองสอง ผ่านบริเวณด้านข้างสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่เกาะกลางของ ถ.ลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง (สถานีคูคต)
ด้วยศักยภาพอันโดดเด่น บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) จึงเปิดคอนโดมิกซ์ยูสแห่งแรก “ลุมพินี ทาวเวอร์ วิภาวดี จตุจักร” และ “ลุมพินี พาร์ค วิภาวดี-จตุจักร” ติดริมถนนใหญ่ บนถนนวิภาวดีรังสิตและออกแบบ
พื้นที่โครงการตอบโจทย์คนทำงานด้วยอาคารสำนักงานและอาคารชุดพักอาศัย เสริมชีวิตคนเมืองให้ง่ายขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Work&Life” ครบครันเพื่อวันทำงานและการใช้ชีวิต สำหรับพื้นที่ส่วนกลางเหมาะกับการชาร์จพลังชีวิตด้วย Pocket Garden และ Infinity Edge Pool ราคาเริ่มต้น 2.49 ลบ. ฟรีเฟอร์นิเจอร์และแอร์ เปิดขายครั้งแรก เสาร์ที่ 9 มิ.ย.นี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม LPN Call Center 02-689-6888 หรือ www.lpn.co.th