ESTAR เปิด 5 โครงการค่ากว่า 6 พันล้าน ชูแบรนด์ “ควินทารา” เรือธงปั๊มรายได้ปี 63

ESTAR เปิด 5 โครงการค่ากว่า 6 พันล้าน
ชูแบรนด์ “ควินทารา” เรือธงปั๊มรายได้ปี 63
 

ESTAR ปี 2563 เปิดตัวโครงการใหม่ 5 โครงการ แบ่งเป็นโครงการคอนโดฯ ในเขตกรุงเทพฯ 3 โครงการ ชูแบรนด์ “ควินทารา” เรือธงหลักและโครงการแนวราบที่ระยอง 2 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท 

ดร.ต่อศักดิ์ เลิศศรีสกุลรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ESTAR เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี 2563 ว่า บริษัทฯ จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ จำนวน
4-5 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน
2-3 โครงการโดยเป็นการพัฒนาคอนโดมิเนียมทั้งหมดภายใต้แบรนด์ “ควินทารา” (QUINTARA) อาทิ ควินทารา คีเนท รัชดา 12 , ควินทารา ภูม สุขุมวิท 39 ซึ่งโครงการทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพโดยอยู่ในแนวรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT มีระดับราคาอยู่ที่ 3-7 ล้านบาท จับกลุ่มเป้าหมายกลาง-บน โดยโครงการภายใต้แบรนด์ควินทารานี้จะเป็นโครงการที่จะมาสร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯในปีนี้ และอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อีก 2 โครงการเป็นโครงการแนวราบ

สำหรับปี 2562 บริษัทฯ ได้เปิดตัวโครงการแบรนด์ควินทาราภายใต้ชื่อโครงการควินทารา อาเท่ สุขุมวิท 52 คอนโดมิเนียม Low Rise สูง 8 ชั้น 1 อาคาร จำนวน 154 ยูนิต ประกอบด้วยห้องชุดแบบ Fully Furnished ขนาด 1 ห้องนอน พื้นที่ตั้งแต่ 28.00-51 ตร.ม. และขนาด 2 ห้องนอน พื้นที่ 56.00 ตร.ม. มูลค่าโครงการประมาณ 600 ล้านบาท และแบรนด์เอสทารา จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการเอสทารา เฮเว่น พัฒนาการ 20 เป็นบ้านแฝด 3 ชั้น และทาวน์โฮม 3.5 ชั้น พื้นที่โครงการ 21 ไร่ ขนาดพื้นที่ใช้สอย 200-220 ตร.ม.ต่อหลัง จำนวน 152 ยูนิต ราคาขายเริ่มต้น 7.89 ล้านบาท มูลค่าโครงการกว่า 1,500 ล้านบาท  โดยทั้งสองโครงการอยู่ระหว่างการขายมียอดขาย 80% และ 50% ของส่วนที่เปิดขายแล้วตามลำดับนอกจากนั้นในปี  2561 ได้มีการเปิดตัวโครงการควินทารา ทรีเฮาส์ สุขุมวิท 42 คอนโดมิเนียมหรูมูลค่ากว่า 1.5  พันล้านบาท     บนทำเลศักยภาพย่านทองหล่อ-เอกมัย จำนวน 304 ยูนิต โดยจะมีการเปิดให้ชมห้องจริงวิวจริงบนอาคารประมาณกลางปีนี้

ดร.ต่อศักดิ์ กล่าวถึงเป้าหมายรายได้ในปี 2563 ว่า  เดิมบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการที่ประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท และยอดขายราว 1,500-2,000 ล้นบาท แต่ผลกระทบจากวิกฤตไวรัส โควิด19 อาจจะต้องมา Revise  อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าหลังไตรมาส 2/2563 น่าจะเห็นความชัดเจน โดยในปีที่ 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มียอดขายอยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาทและมียอดรับรู้รายได้รวมราว 1,300 ล้านบาท ในขณะที่มีสินค้าที่ขายไปแล้วรอการรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนภายในปีนี้ 1,500 ล้านบาท และที่เหลือในปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 เป็นต้นไป บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 อย่างมั่นคงด้วยการสรรสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายครบวงจรให้ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยอย่างสูงสุด ล่าสุดได้จับมือกลุ่มผู้ให้บริการเพื่อตอบสนอง Lifestyle การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ 24 ชม. แก่ลูกบ้านที่อยู่อาศัยภายในโครงการให้ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการบริการอาหารและเครื่องดื่มผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 7-11 และบริษัท บ๊อก 24 จำกัด ในการนำระบบ Smart Locker ที่ให้บริการทั้งการส่งซักรีด ส่งพัสดุ สั่งสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตและการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 บริการนี้พร้อมติดตั้งในโครงการควินทารา ทรีเฮ้าส์ สุขุทวิท 42 ที่เตรียมส่งมอบในปีนี้เป็นโครงการแรก

ส่วนความร่วมมือกับบริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ในการนำระบบ Car Sharing หรือระบบการเช่ารถใช้เดินทางไปกลับโดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายวันหรือรายชั่วโมงเพื่อลดความจำเป็นในการมีรถส่วนตัวโดยจอดไว้บริเวณหน้าโครงการเพื่อความสะดวกของลูกบ้านผู้พักอาศัยจะเริ่มต้นใช้กับโครงการใหม่ของปีนี้ และบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ฟิกซ์ จำกัด จะเข้ามาเป็นพันธมิตรในการช่วยดูแล ซ่อมแซม และบำรุงรักษาบ้านหรือห้องชุดให้กับลูกค้าในพื้นที่กรุงเทพฯทั้งหมดของบริษัทอย่างครบวงจรโดยสามารถเรียกใช้งานผ่าน Application ตลอด 24 ชม.

ดร.ต่อศักดิ์ กล่าวให้มุมมองต่อทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ว่า เป็นปีที่ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวอย่างมากเพราะนอกจากสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซึมเซา ยังมีปัจจัยลบที่ค่อนข้างรุนแรงคือไวรัส โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยและอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมไปถึงการลงทุนในตลาดคอนโดฯ ของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนที่หดตัวรวมทั้งความหวาดกลัวต่อสถานการณ์ของลูกค้าชาวไทยเอง นอกจากการส่งมอบห้องชุดแก่ลูกค้าชาวจีนที่ซื้อห้องชุดไปก่อนหน้านี้อาจได้รับผลกระทบทำให้โอนได้ล่าช้าขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง อาทิ การผ่อนปรนมาตรการ LTV , อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้านในตลาดเรียลดีมานด์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ทำให้ในภาพรวมปีนี้ผู้ประกอบการต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องแข่งขันกับจำนวนหน่วยที่คงค้างอยู่ในตลาดและบรรยากาศความกังวลของลูกค้าโดยทั่วไป แต่สำหรับผู้บริโภคและนักลงทุนแล้วแล้วถือเป็นโอกาสทองที่จะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในหลากหลายทำเลที่มีศักยภาพได้ในราคาไม่แพง

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัส โควิด-19 เราได้เพิ่มช่องทางขายแบบ 24 Hrs. online booking พรีเซลแบบออนไลน์ 100 % เพื่อเปิดขายทางช่องทางออนไลน์ 24 ชม. และมีการทำ VR360 องศา (Virtual Reality) ของห้องตัวอย่างเหมือนจริงส่งให้ลูกค้าชมห้องตัวอย่างที่บ้านได้ง่ายโดยไม่ต้องเดินทางมาเซลล์ออฟฟิศ” ดร.ต่อศักดิ์ กล่าว