SCG ร่วมมือ สภาวิศวกร
ยกระดับมาตรฐานวิศวกรไทย ก้าวไปสู่สากล
ในแต่ละปีประเทศไทยผลิตวิศวกรจบใหม่ปีละ 35,000 คน แต่มีการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม เพียง 7,000 คนต่อปีเท่านั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาจำนวนแรงงานทางด้านวิศวกร ความสามารถของวิศวกรในการตรวจรับงาน ธุรกิจ Cement and Construction Solution ในเอสซีจี จึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ “สภาวิศวกร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานวิศวกรไทยให้มีความรู้ ความสามารถ อีกทั้งยังร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถของวิศวกรไทยให้มีความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุค New Normal พร้อมส่งเสริมคุณภาพการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม รองรับการเติบโตทางด้าน Construction Solution
นายชนะ ภูมี Vice President ธุรกิจ Cement and Construction Solution กล่าวว่า “CPAC และสภาวิศวกรมีข้อตกลงในการร่วมมือกันเพื่อยกระดับมาตรฐานวิศวกรไทยให้มีขีดความสามารถเทียบเท่าในระดับโลก ซึ่งในส่วนนี้เป็นนโยบายหลักของเอสซีจีมาโดยตลอด เราจะเข้าไปร่วมพัฒนาบุคลากร พร้อมปรับไปสู่ Construction Solution และใช้ CPAC BIM ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมทางด้านก่อสร้างของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับสากล โดยจะเริ่มจากภายในองค์กรของเราก่อน เนื่องจาก CPAC มีวิศวกรหลักกว่า 500 คน ที่ให้บริการและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้อยู่ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะพัฒนาบุคลากรตรงจุดนี้ พร้อมยังจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงการพัฒนาความสามารถวิชาชีพวิศวกรในกลุ่มผู้ประกอบการ Ecosystem ของเรา ทั้งกลุ่มผู้รับเหมาขนาดกลางและเล็ก โดยจะเข้าไปร่วมมือกันให้ความรู้ ส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพวิศวกรของกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้ได้รับรองอย่างถูกต้องต่อไป
ทางด้าน นายชูโชค ศิวะคุณากร Managing Director – CPAC กล่าวว่า “แกนหลักของงานก่อสร้างคือเรื่องคน หนึ่งในนั้นก็คือวิศวกร ทั้งนี้การพัฒนาวิศวกร ประกอบด้วยการนำ Digitization จากคนเก่งระดับโลกมาใช้ รวมถึงการนำแพลตฟอร์มการทำงานต่างๆ ที่มีความสะดวกรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น ถัดมาเป็นเรื่องของ Construction Technology เราต้องดึงเอาสิ่งต่างๆ มาปรับใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และเป็นประโยชน์ต่อทั้งอุตสาหกรรมของประเทศ โดยมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ของที่มีในตลาดสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเราได้สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาตัวหนึ่ง เรียกว่า All Rent เป็นตัวเชื่อมเครื่องจักรเครื่องมือหนักในตลาดให้กับคนที่ต้องการใช้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างได้ทุกขณะ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการก่อสร้าง ลดเวลาและลดแรงงานคน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการสร้างโมดูล ซึ่งเป็นเรื่องของ Innovation ที่เน้นเป็น Solution โดยปัจจุบันนี้เราได้พัฒนาโมดูลมาทั้งหมดกว่า 250 โมดูลแล้ว และจะขยายเป็น 500 โมดูลในอนาคต สิ่งเหล่านี้เกิดจาก Innovation ของคนที่เข้ามามีส่วนร่วมทั้ง Ecosystem และคนที่เกี่ยวข้อง เราพร้อมจะเชื่อมทั้งหมดเข้าด้วยกัน
เป้าหมายสำคัญในการยกระดับวิศวกรไทยในครั้งนี้ คือ การทำอย่างไรให้วิศวกรระดับภาคีวิศวกร สามารถเลื่อนขั้นเป็นระดับสามัญวิศวกร และนำไปสู่ระดับวุฒิวิศวกรในอนาคต โดยเรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคือ การมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ซึ่งทางเอสซีจีจะผลักดันให้บุคลากรมีใบอนุญาตฯ ในระดับสามัญวิศวกร และวุฒิวิศวกร ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2564 นอกจากนี้ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอาชีวะ ยังสามารถสอบเลื่อนระดับเป็นวิศวกรแบบภาคีวิศวกรพิเศษ โดยจะช่วยยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถของวิชาชีพวิศวกรไทยให้รองรับการขยายตัวของงานก่อสร้างและรูปแบบที่เป็น Construction Solution มากขึ้น
“ปัจจุบันเอสซีจีมีวิศวกรระดับภาคีวิศวกรกว่า 300 คน สามัญวิศวกร 50 คน โดยตั้งใจว่าจะส่งเสริมให้ได้ระดับสามัญวิศวกรเป็นอย่างต่ำ เพราะเราได้วางแผนจะก้าวไปในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีบุคลากรในระดับช่าง ปวช. ปวส. ที่เราต้องการส่งเสริมให้เป็นวิศวกรแบบภาคีวิศวกรพิเศษ ซึ่งในต่างประเทศ อย่างเช่นเยอรมันหรือญี่ปุ่นก็ได้ใช้ระบบนี้มานานแล้ว โดยทางเอสซีจีก็มีระบบนี้ในการพัฒนาช่างที่เป็นบุคลากรของเราขึ้นมาเป็นวิศวกร และตอนนี้เรามีศูนย์ CPAC Solution Center กระจายอยู่ทั่วประเทศ 23 แห่ง ซึ่งจะทำงานร่วมกับช่างหรือผู้ประกอบการท้องถิ่น ทำให้เขามีขีดความสามารถที่สูงขึ้น มีทักษะการก่อสร้าง ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน” นายชนะ กล่าวเสริม
ในส่วนของสภาวิศวกร เป็นหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของวิศวกรไทย ปัจจุบันมีสมาชิกร่วม 300,000 คน วัตถุประสงค์สำคัญของสภาวิศวกร คือ การสนับสนุนงานวิชาการและงานวิจัย ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีกันอย่างรุนแรง แต่ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จำเป็นต้องแก้ไขโดยเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้การพัฒนาอาชีพวิศวกรจึงมีผลกับทุกคน หากวิศวกรไทยเข้มแข็ง ก็สามารถพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีได้ และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม มีรายได้กลับมาพัฒนาประเทศ สังคม และยังสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มากมาย
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า “ความร่วมมือกับทาง บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ที่เป็นบริษัทชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีในการก่อสร้างของประเทศไทย ซึ่งวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันผู้ใช้งานคาดหวังให้มีความทนทาน ใช้งานได้ดี และมีความสวยงาม จึงต้องใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ถือเป็นจุดกำเนิดที่มีจุดประสงค์ร่วมกันระหว่างสององค์กรใหญ่ ซึ่งเอสซีจีเองก็เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในด้านนวัตกรรม ตรงนี้จะสามารถถ่ายโอนความรู้ และยังร่วมมือกันส่งสัญญาณไปถึงคณะวิศวกรรมทั่วประเทศ ว่าวันนี้เจ้าของผลิตภัณฑ์เขากำลังมองการตลาดอย่างไร วันนี้สภาวิศวกรมีนโยบายสำคัญในการสร้างวิชาชีพนี้ให้ไปไกลแค่ไหน เราจะร่วมมือกันเพื่อยกระดับวิศวกรที่กำลังจะจบออกไปจากมหาวิทยาลัยด้วย”
การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ คือ การชดเชยด้วยนวัตกรรมของวัสดุ การร่วมมือของสภาวิศวกรและ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด จึงมีผลต่อการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยสภาวิศวกรจะมีบทบาทสำคัญ คือ การดึงเอาภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม เข้ามาให้ข้อมูลความรู้ และความร่วมมือ เพื่อโน้มน้าวให้มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตได้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและความเปลี่ยนแปลงของโลก