กูรู ฟันธง! ประกาศเขตปลอดอากร E-Commerce
ส่งผลบวกต่อศก. ดันตลาดอสังหาฯ ในพื้นที่ EEC บูม
บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจ ที่ปรึกษาด้านการตลาดและสื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ได้จัดงานเสวนา “ชำแหละประกาศกรมศุลกากร E-Commerce ใน EEC: ผลกระทบภาคอสังหาฯ ไทย” โดยวิทยากรประกอบด้วย นายทัศไนย เหมือนเสน ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ JOBBKK.COM หรือ E_JOB กรรมการบริษัท THAILAND BUSINESS CENTER (TeC) และอุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย, ดร. เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ประธานบริหาร GMO – Z.com NetDesign , นายปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามไอซีโอ จำกัด และกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และนายกรณ์กวินท์ พีระเดชไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด (Chief Marketing Officer prop2morrow) โดยสรุปวิทยากรต่างสรุปเห็นพ้องกันว่าพื้นที่ E-Commerce Park จะส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาฯและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โกดังสินค้า บ้าน คอนโดให้เช่า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ ศูนย์ประชุม รวมถึงธุรกิจภาคบริการอื่นๆเช่น ธุรกิจเฮลท์แคร์ โรงพยาบาล ธุรกิจประกัน ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจไอที และธุรกิจรีเทล เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกรมศุลกากร ที่ 204/2562 เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor :EEC)
นายกรณ์กวินท์ พีระเดชไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด กล่าวว่า ประกาศของกรมฯ ดังกล่าว ส่วนตัวมองเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลต้องการเพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของ ประเทศผ่านการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนทั้งที่มาจากการลงทุนต่างประเทศและจากนักลงทุนภายในประเทศ หรือการมีโปรเจ็กต์หนึ่งที่มาจากการลงทุนทำให้เกิดการก่อสร้าง การจ้างงาน การสั่งสินค้า และการเกิดฟรีเทรดโซนใน EEC อาจเป็นโอกาสของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพราะพื้นที่ E Commerce Park นั้น ที่ประสบความสำเร็จในประเทศจีนซึ่งมีมากกว่าพันแห่งได้เป็นแหล่งกระจายรายได้ให้ชุมชน สินค้าหรือบริการเหล่านั้นให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น หลายรายเติบโตเป็นผู้ประกอบการระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Alibaba Huawei Oppo Xiaomi เป็นต้น ต่างก็มีจุดเริ่มต้น จากการเป็น SME ใน E Commerce park เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้หากพิจารณาการขยายการลงของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลาง (กทม.) หรือจากผู้ประกอบการท้องถิ่นสะท้อนภาพได้ว่าอสังหาฯ ในพื้นที่ EEC เป็นทำเลที่มีอัตราการเติบโตในอัตราที่ดี โดยเฉพาะชลบุรีส่วนระยองเป็นทำเลศักยภาพ ขณะที่ฉะเชิงเทรามีโอกาสขยายตัวในอนาคต และน่าจับตามองมากหลังจากที่ Alibaba Group บริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดของประเทศจีนลงทุนก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hubในพื้นที่ EEC มูลค่าลงทุน 11,000 ล้านบาทอสังหาริมทรัพย์เมื่อมีเม็ดเงินนับหมื่นล้านบาทเข้ามาในไทยก็จะเกิดการจ้างงานมากขึ้น การถ่ายโอนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น โดยส่วนตัวมองเป็นเชิงบวกต่อประเทศไทยและเชิงบวกต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
นายทัศไนย เหมือนเสน กรรมการบริษัท Thailand eBusiness Center (TeC) และอุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย กล่าวว่า EEC เป็นการเปิดการค้าไทยกับต่างประเทศ และสร้าง e-Trade cross border possibility โดยเฉพาะจีน ถ้าเราเน้นเอาการลงทุนเอา Know-how ของเค้ามาเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการเราให้ดีขึ้น เราเองก็มีโอกาสส่งออกไปต่างประเทศทั่วโลก ซึ่งจีนถือเป็นยุทธศาสตร์สำหรับ เป็นคู่ค้ากันมาระหว่างไทย-จีนอยู่ในอันดับที่ 14 กว่า 44-45 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน อีกทั้งจะสร้างงานหลายแสนหลายล้านอาชีพในเขตพื้นที่พิเศษ EEC นี้ สคิลด้าน Digital, e-Commerce, e-Business และ Technology คือสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักในวันนี้ เพื่อที่จะเป็นแรงงานศักยภาพในอนาคต ทาง TeC หรือ Thailand e-Business Center ก็มองโอกาสในการไปสร้างสำนักงานบริษัทสาขาที่ 3 ใน EEC เพื่อช่วยสร้าง Future digital career, e-Commerce cross border to China, Practical training และสนับสนุนให้คนไทย ผู้ประกอบการไทย ผู้บริหารระดับสูง ใช้ประโยชน์จาก Case Study จีน และพัฒนาองค์กรไปสู่ Digital Technology transformation
นายปฐม อินทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสยามไอซีโอ จำกัด และกรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยขาดดีมานด์ในการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นอาวุธหลักในการแข่งขันทางธุรกิจใน 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีแผนธุรกิจทำสมาร์ทเนชั่น สมาร์ทซิตี้ ยกเครื่องระบบ โลจิสติกส์ ซัพพลายเชน ฯลฯ นั่นคือเขาต้องใช้ IOT, AI และเซ็นเซอร์อีกมากมายมหาศาล ซึ่งนั่นถือเป็น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้ทางออกของผู้ประกอบการไทยคือต้องเร่งพัฒนา Eco System ของตัวเองขึ้นมาด้วย โดยมองว่าหน่วยงานรัฐอย่างต้องร่วมมือกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ในขณะที่บริษัททั่วไปก็จำเป็นต้องมองหาโอกาสในธุรกิจจาก EEC ด้วยการเรียนรู้จากธุรกิจข้ามชาติโดยเฉพาะจีนที่เป็นกำลังสำคัญใน EEC ซึ่งมีความพร้อมทั้งในการบริหาร การจัดการ เงินทุน และเทคโนโลยี
สำหรับผลกระทบจากประกาศกรมศุลกากร ฉบับนี้ นายปฐม กล่าวให้ความเห็นว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการ E-Commerce ไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย เน้นการค้าขายผ่านระบบ Social Commerce มักเคยชินอยู่กับการซื้อมา ขายไป ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการทำธุรกิจในระยะยาว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยการเร่งพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้า โดยการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองอย่าพึ่งพิงเจ้าของสินค้าจากจีนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะแม้จะขายดีในวันนี้แต่เขาย่อมหาช่องทางขายตรงเข้าในประเทศไทยอย่างแน่นอนในอนาคต
ทั้งนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก EEC จึงเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการชาวไทยได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำธุรกิจจากต่างชาติ และการทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่เกิดจากการขยายตัวของ EEC ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และอสังหาริมทรัพย์ที่ล้วนมีโอกาสใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นเดียวกัน
ขณะที่ดร. เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ประธานบริหาร GMO – Zcom NetDesign ในเครือ GMO Internet Group ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น กล่าวให้ความเห็นว่า การที่หน่วยงานภาครัฐคือกรมศุลกากรได้ออกประกาศการปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ในพื้นที่ EEC ถือว่าสอดคล้องและสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมในดิจิทัลแทนการพัฒนาอุตสาหกรรมพึ่งพาแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ ยังมองว่าการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านคมนาคมต่างๆ เพื่อเชื่อมการค้าและการลงทุนไปยังพื้นที่ EEC โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ทำให้การขนส่ง และการเดินทางระหว่างจังหวัดสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดต้นทุนและลดระยะเวลา เป็นการกระจายความเจริญไปสู่เมืองต่างๆ ประโยชน์ที่ได้รับนั้นนอกจากจะเป็นการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้นแทนการจะกระจุกตัวเฉพาะในเมืองเหมือนในอดีตแล้ว ยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ก็จะมีความสำเร็จตามมาทั้งปริมาณและคุณภาพ
พร้อมกันนี้ ดร. เฉลิมรัฐ ยังกล่าวให้ความเห็นด้วยว่า นอกจากความสะดวกสบายด้านการคมนาคมแล้ว สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา การเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจขอประเทศไทย ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) ซึ่งการที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ถือว่าเป็นมาตรการกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้น ผลตามมาก็คือ เป็นการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่หรือในชุมชน รวมถึงได้แรงงานเชี่ยวชาญจากต่างชาติ ซึ่งคนไทยเองก็ต้องเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญจากการลงทุนของต่างชาติด้วย ภาครัฐ หรือ ภาควิชาการ หรือมหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้นก็ต้องผลิตหรือสร้างบุคคลากรเพื่อรองรับภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยเช่นกัน และการที่ต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยหรือเกิดการว่าจ้างแรงงานขึ้นในพื้นที่ใดก็ตาม ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยก็ตามมาด้วยเช่นกัน
“กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นถ้ามองเห็นโอกาสเขามาลงทุนอยู่แล้ว และที่มาลงทุนในไทยเขาต้องการลงทุนระยะยาว ธุรกิจดิจิทัลจะให้ความสำคัญ infrastructure เป็นหลัก และการลงทุนในธุรกิจดิจิทัลนั้นไม่จำเป็นว่าผลิตซอร์ฟแวร์มาแล้วจะขายเฉพาะประเทศนั้นๆ” ดร. เฉลิมรัฐ กล่าวพร้อมระบุว่า GMO Internet Group ได้เข้ามาลงทุนในไทย ใช้เม็ดเงินลงทุนไปแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท มีเป้าหมายใช้ประเทศไทยเป็นไปฐานในการผลิตซัพพอร์ตไปทั่วภูมิภาคเซาท์อีสต์ เอเชีย ที่มีประชากรรวมกัน 600-700 ล้านคน