ปัญหาแรงงานภาคก่อสร้างเข้าขั้นวิกฤติหนัก

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน รับโล่งใจหลังรัฐบาลงัด ม.44 ชะลอใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว จี้รัฐก่อนออกกฎหมาย ควรพิจารณารอบครอบ มองผลกระทบรอบด้าน ระบุปัญหาแรงงานภาคการก่อสร้างเข้าขั้นวิกฤติหนักถึงขั้นแย่งคนงานต่างด้าวในแต่ละไซต์งาน

นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่าง พ.ศ.2560 และล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 รัฐบาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ได้เข้าชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และสะท้อนได้ว่าภาครัฐได้เข้าใจความเดือดร้อนของทุกฝ่ายพร้อมกับหาแนวทางดำเนินการไม่ให้ทุกฝ่ายได้รับความเดือดร้อน

“เห็นด้วยที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจังหรือมองในประเด็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ แต่ก่อนที่รัฐบาลจะปรับระดับความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย อยากให้รัฐบาลพิจารณาปัญหาในการทำMOUที่ผ่านมารวมถึงผลกระทบให้รอบด้านก่อนเพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อเท็จจริงซึ่งภาคเอกชนก็มีความพยายามที่จะทำให้ถูกกฎหมายอยู่แล้ว” นายพิชิต กล่าว พร้อมให้ความเห็นด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลยังขาดความพร้อมด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและสนับสนุนการทำ MOU ซึ่งทำให้เกิดช่องโหว่ในการปฏิบัติจริง

ส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจก่อสร้างและธุรกิจรับสร้างบ้านนั้น ผู้ประกอบการรับจ้างก่อสร้างได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น เอสเอ็มอี (SME) ซึ่งมีซับคอนแทรคที่ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญและกลุ่มนี้มีศักยภาพจำกัดทั้งเวลาและเงินทุนอีกทั้งแรงงานในกลุ่มก่อสร้างเป็นแรงงานระบบเปิด คือมีการเคลื่อนย้ายถ่ายเทตลอดเวลา กล่าวคือ เมื่อซับคอนแทรคบางรายที่มีข้อจำกัดแล้วได้รับผลกระทบเขาก็ไม่สามารถที่จะรับงานได้ก็กระทบทั้งต่อบริษัทรับสร้างบ้านและผู้บริโภค

นายพิชิต ยังกล่าวด้วยว่าปัจจุบันปัญหาแรงงานพบว่า ในภาคอสังหาริมทรัพย์รวมถึงธุรกิจก่อสร้างกำลังประสบปัญหาใหญ่เข้าขั้นวิกฤติ มีภาวะขาดแคลนแรงงานในทุกกลุ่ม ทั้งระดับหัวหน้าคุมงาน แรงงานระดับช่างฝีมือ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แม้กระทั้งแรงงานที่ไร้ฝีมือยังขาดแคลน และหากการก่อสร้างในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆทั้งโครงการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ที่ได้รับอนุมัติได้ เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อไหร่ความต้องการพึ่งพาแรงงานนั้นจะสูงมาก ซึ่งอาจถึงขึ้นต้องแย่งตัวแรงงานต่างด้าวที่ประจำในแต่ละไซต์งาน