“พฤกษา” พลิกฟื้นผืนป่า 1 แสนต้น ในโครงการ “ร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์” สร้างสรรค์สังคม “อยู่ดี มีสุข” สานต่อแนวคิด ESG

“พฤกษา” พลิกฟื้นผืนป่า 1 แสนต้น ในโครงการ “ร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์”
สร้างสรรค์สังคม “อยู่ดี มีสุข” สานต่อแนวคิด ESG

พฤกษา รวมพลังพันธมิตรและพนักงานจิตอาสาร่วมทำความดี Impact for Good ร่วมกันปลูกป่า 100,000 ต้น ในโครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ บนเนื้อที่ 370 ไร่ ในพื้นที่ ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ตอกย้ำ Purpose “Live well Stay well อยู่ดี มีสุข” และสานต่อแนวคิด ESG ที่ผสานด้านสภาพแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance)

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของพฤกษาที่ต้องการฟื้นฟูระบบนิเวศร่วมกับกรมป่าไม้ ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมของพฤกษาในเรื่อง Impact for Good ใช้ใจ ทำดี เพื่อผลลัพท์ที่ดี โดยโครงการนี้ได้เชิญชวนผู้บริหาร พันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และพนักงานจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรมปลูก บำรุง อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่า ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะดูแลสวนป่าร่วมกับกรมป่าไม้ไปอีก 10 ปี โดยที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 600 คน

“การจัดโครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์นี้ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร ที่มุ่งส่งเสริมพนักงานในการใช้ใจ ทำดี เพื่อผลลัพท์ที่ดี Impact for Good และยังเป็นไปตามแนวคิด ESG ที่ถูกปลูกฝังในทุกขั้นตอนการทำงานของเรา เพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยในเรื่องสังคม เรามีความมุ่งมั่นที่จะมอบการอยู่อาศัยที่ดี และสร้างสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ทางด้านสิ่งแวดล้อม เราได้กำหนดเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593” นายอุเทน กล่าว

นอกจากโครงการร่วมปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมาแล้ว พฤกษายังได้เข้าร่วมโครงการ จัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของพฤกษาเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในพื้นที่ ช่วยลดปัญหาการว่างงาน ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสังคมด้วยเช่นกัน