ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2560 และคาดการณ์ครึ่งหลังปีพ.ศ.2560
ตลาดอสังหาริมทรัพย์สามตลาดหลักอย่าง คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพมหานครในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2560 ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้มีการขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมาเท่าใดนัก โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมที่มีโครงการเปิดขายใหม่ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาและจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนตลาดอาคารสำนักงานก็ยังคงเห็นความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานที่มาจากบริษัทในประเทศไทยและต่างชาติแบบต่อเนื่อง พื้นที่ค้าปลีกเองก็มีอัตราการเช่าที่ค่อนข้างสูงเรียกได้ว่าเกือบเต็ม 100% ในหลายๆ ศูนย์การค้า
นายสัญชัย คูเอกชัย รองกรรมการผู้จัดการ คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงตลาดอาคารสำนักงานยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนแรกของปีพ.ศ.2560 ว่า “ตลาดอาคารสำนักงานมีการขยายตัวต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมาอัตราการเช่าเฉลี่ยในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ประมาณ 92% อาคารสำนักงานใหม่ๆ ที่เพิ่งสร้างเสร็จมีอัตราการเช่าที่ค่อนข้างสูงหรือเกือบเต็ม 100% และยังมีอาคารสำนักงานใหม่ๆ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่อีกหลายอาคาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดอาคารสำนักงานเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติมากขึ้น แม้ว่าราคาที่ดินจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกดดันให้ตลาดอาคารสำนักงานมีการขยายตัวในแง่ของอุปทานลดลง แต่ที่ดินเช่าหลายแปลงในพื้นที่เมืองชั้นในกำลังก่อสร้างโครงการมิกซ์-ยูสที่มีอาคารสำนักงานเป็นหนึ่งในรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการ ค่าเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานก็ปรับขึ้นต่อเนื่องเช่นกันโดยเฉพาะอาคารสำนักงานเกรด A ที่ค่าเช่าสูงกว่า 1,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนไปหลายอาคารแล้วและยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลาดอาคารสำนักงานจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้และปีต่อๆ ไป ค่าเช่าก็จะปรับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน”
นอกจากนี้ นายสัญชัย ยังได้ให้ความเห็นถึงตลาดพื้นที่ค้าปลีกที่เป็นอีกตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันว่า “ศูนย์การค้าเป็นรูปแบบโครงการที่มีการขยายตัวมากที่สุดในแง่ของพื้นที่โครงการเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ในขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์ยังมีการขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ลดลงเพราะมีหลายโครงการที่ไม่ได้รับความนิยมแบบช่วงแรกๆ และต้องดิ้นรนหาวิธีในการเอาตัวรอดอยู่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการโครงการพื้นที่ค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศไทยยังคงมีแผนการขยายสาขาหรือเพิ่มจำนวนโครงการรวมไปถึงการปรับปรุงโครงการพื้นที่ค้าปลีกของตัวเองแบบต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ร้านค้าหรือแบรนด์สินค้าต่างชาติจำนวนมากยังคงต้องการเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยทั้งในรูปแบบร้านค้านอกโครงการพื้นที่ค้าปลีก และในโครงการพื้นที่ค้าปลีก แม้ว่าตลาดพื้นที่ค้าปลีกในหลายๆ ประเทศจะได้รับผลกระทบจากช้อปปิ้งออนไลน์ แต่ในประเทศไทยยังคงไม่เห็นผลกระทบนั้นแบบชัดเจน อีกทั้งผู้ประกอบการโครงการค้าปลีกต่างๆ ก็มีการพัฒนาระบบช้อปปิ้งออนไลน์มารองรับและได้รับความนิยมจากคนไทยในระดับหนึ่ง เนื่องจากการลงทุนในตลาดพื้นที่ค้าปลีกเป็นการลงทุนระยะยาวทำให้การขยายตัวในเรื่องของอุปทานยังคงมีต่อเนื่องในอนาคต ในส่วนของอุปสงค์ก็เช่นกันเพราะประเทศไทยเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและทำงาน แบรนด์ต่างชาติต่างๆ จึงยังให้ความสนใจในประเทศไทยอยู่”
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดที่ได้รับความสนใจและมีหลายภาคส่วนทั้งรัฐบาลและเอกชนวิตกกังวลมากที่สุดคือ ตลาดคอนโดมิเนียมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีหลายทำเลออกอาการโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งคอนโดมิเนียมประมาณ 13,600 ยูนิตเปิดขายใหม่ในไตรมาสที่ 2 พ.ศ.2560 มากกว่าไตรมาสที่ 1 ประมาณ 30% และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังปีพ.ศ.2560 ซึ่งทำให้คอนโดมิเนียมที่จะเปิดขายใหม่ในปีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมากกว่า 45,000 ยูนิตซึ่งจะมากกว่าปีที่แล้วประมาณ 15% โดยผู้ประกอบการให้ความสนใจพื้นที่นอกเมืองชั้นในแบบเห็นได้ชัด เพราะมีโครงการเปิดขายใหม่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างโดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวเส้นทางสายสีเขียวตอนเหนือ และสายสีน้ำเงินค่อนข้างมาก อีกทั้งในพื้นที่ดังกล่าวยังมีโครงการที่ผู้ประกอบการมีแผนจะเปิดขายโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อีกต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการเปิดขายโครงการที่มีราคาไม่สูงเกินไปและมีแนวโน้มที่ราคาขายจะปรับขึ้นต่อเนื่องพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจึงเป็นทำเลที่พวกเขาสนใจมากกว่าพื้นที่ชั้นในที่ราคาที่ดินสูงมากในปัจจุบัน อัตราการขายในภาพรวมอาจจะไม่สูงมากนัก แต่ผู้ประกอบการบางรายที่สามารถสร้างกระแสและความน่าสนใจให้กับโครงการตนเองได้ก็ได้รับการตอบรับที่ดีและสามารถปิดการขายได้ในบางโครงการ”
ตลาดคอนโดมิเนียมต่างจังหวัดโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวยังคงชะลอตัวต่อเนื่องสวนทางกับตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครค่อนข้างชัดเจน เพราะว่าโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ก็ลดลงต่อเนื่องในขณะที่อัตราการขายก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าผู้ประกอบการพยายามที่จะกระตุ้นความน่าสนใจแบบต่อเนื่อง โดยเรื่องนี้นายสุรเชษฐ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยายังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมามีโครงการเปิดขายใหม่ลดลงแบบชัดเจน ในขณะที่ความต้องการเองก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเช่นกันและเป็นตลาดที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมากที่สุดเพราะมีคอนโดมิเนียมเหลือขายประมาณ 10,000 ยูนิตแม้ว่าจะมีผู้ซื้อชาวจีนมากขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้มากมายนักอีกทั้งก่อนหน้านี้มีโครงการเปิดขายใหม่มากเกินไป พื้นที่ชะอำ หัวหินยังคงเป็นตลาดที่มีการขยายตัวแบบช้าๆ ต่อเนื่องโครงการของผู้ประกอบการที่มีความน่าเชื่อถือยังคงได้รบความสนใจจากผู้ซื้อต่อเนื่อง ตลาดคอนโดมิเนียมในเขาใหญ่อาจจะมีการขยายตัวช้าลงเพราะมีโครงการเปิดขายใหม่มากเกินไปก่อนหน้านี้แต่โครงการที่มีรูปแบบโครงการสอดคล้องกับภูมิประเทศก็ยังได้รับความสนใจอยู่ ผู้ซื้อชาวจีนเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดคอนโดมิเนียมในเชียงใหม่ได้ระดับหนึ่งเพราะมีหลายโครงการที่มีคนจีนเข้ามาซื้อหรือว่ามีความร่วมมือกับบริษัทนายหน้าจากประเทศจีนซึ่งช่วยกระตุ้นยอดขายให้สูงขึ้นทำให้ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในเชียงใหม่ดูดีขึ้น ”
“ แม้ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทัพย์จะมีการขยายตัวไม่มาก แต่ในภาพรวมแล้วยังไม่ได้ชะงักหรือว่าเกิดปัญหาแบบชัดเจน แม้ในตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครที่มียูนิตโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเลก็ยังคงมีอีกหลายทำเลที่มีโครงการใหม่เปิดขายต่อเนื่องซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการต่างพยายามหาช่องว่างและหาโอกาสในการเปิดขายโครงการใหม่ให้ตรงกับความต้องการและกำลังซื้อ แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะชะลอการเปิดขายโครงการใหม่ออกไปก่อนเพื่อรอให้กำลังซื้อในภาพรวมดีขึ้น อีกทั้งรอให้งานพระราชพิธีสำคัญในเดือนตุลาคมปีนี้ผ่านไปก่อน ในขณะที่ตลาดอื่นๆ ก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพราะเป็นทั้งตลาดอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกเป็นธุรกิจที่เน้นการลงทุนในระยะยาว” นายสุรเชษฐ กล่าวสรุป