ลลิลมั่นใจอสังหาฯครึ่งปีหลังโต ลุยเปิด6โครงการใหม่มูลค่า3พันลบ.

 “ลลิล” มองเศรษฐกิจแนวโน้มดี มั่นใจอสังหาฯครึ่งปีหลังโตสูง หลายปัจจัยบวก ทั้งส่งออก ท่องเที่ยว ลงทุนภาครัฐหนุน บุกตลาดครึ่งปีหลัง เปิด 6 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท เผยกลยุทธ์ เจาะช่องว่างตลาด หาโอกาสในทำเลใหม่ๆ เปิดโครงการตอบโจทย์ผู้บริโภค เผยผลงานผลงานได้อย่างโดดเด่นในช่วงครึ่งปีแรก โดยรอบ 6 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทฯ มียอดรับรู้รายได้ 2,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 402 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 41% จากปีก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันมาตลอด 3 ปี เตรียมประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล

นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่  บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลัง  ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3 และ 4 ปี 2561 ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยภาพรวมทั้งปี 2561 น่าจะเห็นการขยายตัวราว 4 – 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดีภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะแม้จะมีการขยายตัว แต่ยังคงเป็นการเติบโตที่กระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นตัวฉุดกำลังซื้อในประเทศ และความเสี่ยงจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อเช่นเดียวกัน ในส่วนปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศต้องติดตามประเด็นสงครามการค้าระหว่างประเทศ หากลุกลามอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของโลกและไทยได้

“ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2561 จะขยายตัวได้ 4-4.5% จากปัจจัยหนุนของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อีกทั้งเริ่มสัญญาณการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง”

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ 6 โครงการมูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท โดยเตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 2 โครงการในเดือนส.ค.นี้ มูลค่า 600 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านเดี่ยว ย่านสามพราน จำนวน 50-60 ยูนิต มูลค่า 300 ล้านบาท และโครงการทาวน์โฮม ทำเลกรุงเทพฯตอนเหนือ มูลค่า 300 ล้านบาท  ส่วนในช่วงไตรมาส 4 จะเปิดโครงการใหม่อีกราว 4 โครงการ มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม โดยการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้จะยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่เปิด 8-10 โครงการ มูลค่าโครงการวม 4,500-5,000 ล้านบาท

“การพัฒนาโครงการให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพ และService Mind  โดยโฟกัสตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑล สัดส่วน 70-80% และตลาดต่างจังหวัด 20-30%   กลยุทธ์การพัฒนาของลลิล เรา มองหาช่องว่างตลาด หาโอกาสในทำเลใหม่ๆ รวมถึงเปิดโครงการใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค”

อย่างไรก็ตาม สินค้าหลักยังคงเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยว และทาวน์เฮ้าส์ โดยเน้นตลาดระดับบีบวก ราคาเฉลี่ย 4-7 ล้านบาท โดยบ้านเดี่ยวเริ่มต้นที่ 4 ล้านบาท ไปถึงสูงสุด 10 ล้านบาท และทาวน์เฮ้าส์อยู่นในระดับราคา 2-3 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมแผนการทำตลาดเชิงรุกมากขึ้นทั้ง Online Marketing และ Offline Marketing โดยเลือกสื่อและเครื่องมือที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าและทำเล ตลอดจนมีการเพิ่มงบประมาณในส่วนของ e-Marketing เนื่องจากเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เฉพาะเจาะจง ซึ่งช่วยให้การใช้งบการตลาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมั่นใจว่าในปี 2561 บริษัทจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 4,000 ล้านบาท

โดยในครึ่งปีแรก 2561 บริษัทสามารถมียอดขายใหม่ได้กว่า  2,800 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มั่นใจว่าปีนี้สามารถทำได้ดีกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนผลประกอบการรอบ 6 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทมียอดรับรู้รายได้ที่ 2,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิที่ 402 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 41 % จากปีก่อนหน้า ถือเป็นการขยายตัวติดต่อกันมาตลอด 3 ปี  และได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้น ในอัตราหุ้นละ 0.165 บาท กำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 และจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทุกท่านในวันที่ 7 กันยายน 2561

ส่วนยอดปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทปัจจุบันอยู่ในระดับ 20-25% ทรงตัวจากครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทให้คำปรึกษา แนะนำ และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในหลายๆ ระดับราคาในทำเลนั้นๆ เพื่อรองรับลูกค้าในทุกกลุ่มที่มีความต้องการ

“ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะแม้จะมีการขยายตัวได้ แต่ยังคงเป็นการขยายตัวที่กระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นปัจจัยที่ฉุดกำลังซื้อไนประเทศ และความเสี่ยงจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อเช่นเดียวกัน ส่วนปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างประเทศ หากลุกลามไปมากอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้”